CEA ผนึกพันธมิตร 15 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน MOU บูรณาการเชิงรุก ชูสุดยอดนักสร้างสรรค์ สร้างโอกาส-เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ 15 ภาคีเครือข่ายพันธมิตร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ “Creative Business Transformation” ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตอกย้ำจุดยืน สร้างโอกาส ผลักดัน Soft Power ส่งเสริมสุดยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มและปรับทิศทางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า “ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการนำมาใช้เป็นกลไกผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงปี 2563 – 2564 จากประมาณการขององค์การยูเนสโก ในปี 2563 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกมีมูลค่าลดลงกว่า 24.8 ล้านล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย 15 สาขา มีมูลค่าลดลงร้อยละ 23 อยู่ที่ 1.19 ล้านล้านบาท

ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA ได้ดําเนินมาตรการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้สามารถแข่งขันได้ระดับสากล และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในแง่ของระบบเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ซึ่งในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ การจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “Creative Business Transformation” โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตร 15 หน่วยงานครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย

สำหรับพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “Creative Business Transformation” ในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ โดยมีด้วยกัน 4 มิติหลัก อันได้แก่

1.ความร่วมมือด้านเครือข่ายธุรกิจชุมชน องค์ความรู้การจัดการธุรกิจ และการขายและการตลาด ที่จะร่วมกันศึกษาและส่งเสริมความต้องการทางการตลาดในระดับประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจาก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU), กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย และ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด

2. ความร่วมมือด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ที่จะนำการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์อนาคตธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยได้รับความร่วมมือจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

3.ความร่วมมือด้านการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นการร่วมกันกำหนดแนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), สินวัฒนา คราวด์ฟันดิง, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

4. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เป็นการร่วมกันกำหนด แนวทางการสนับสนุนคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากล โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย, สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

“ในการจับมือร่วมกันครั้งนี้ ทาง CEA รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การได้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญมาผลักดันและร่วมกันจัดทำนโยบายเพื่อยกระดับผู้ประกอบธุรกิจ และนักสร้างสรรค์ให้มีศักยภาพ จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงเป็นรูปธรรม มีความยั่งยืน สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากพื้นที่ หรือชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือด้านความรู้ การบริหารจัดการธุรกิจการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านการผลิตและการตลาดออนไลน์ ตลอดจนเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสร้าง Soft Power เพื่อใช้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและส่งเสริมการส่งออก” ดร.ชาคริต กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “Creative Economy Foresight & Transformation” อนาคตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย โดยตัวแทนวิทยากรจากหน่วยงานและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง ของหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะร่วมกันศึกษานโยบายและความร่วมมือหลากหลายด้าน ทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ธุรกิจสร้างสรรค์ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและดิจิทัลอย่างฉับพลัน การขยายองค์ความรู้การจัดการธุรกิจสร้างสรรค์ แนวทางการลงทุนทางธุรกิจอย่างยั่งยืน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนการส่งเสริมหรือสร้างแพลตฟอร์มสินค้าและบริการสร้างสรรค์ รวมถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถกำหนดนโยบายและแนวโน้มของโครงการต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยได้” ดร.ชาคริต กล่าวเพิ่มเติม

จากการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน จึงเป็นก้าวสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและให้สอดคล้องกับยุุทธศาสตร์ชาติ โดยใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนศักยภาพและพัฒนาประเทศในทุุกมิติ และส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก

Leave a Reply

error: Content is protected !!