ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งสัญญาณกระตุ้นทุกภาคส่วนตื่นตัวรับมือวิกฤตการเงิน ผ่านการจัดทำคลิปวิดิโอ 7 CBS Series 7 ทางรอดวิกฤตเงินเฟ้อ #รู้แล้วรอด ถอดบทเรียนสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ใน 7 เรื่องสำคัญ ตั้งแต่ เงินเฟ้อ ราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท หนี้ครัวเรือน การออม และการลงทุน ดีเดย์เผยแพร่ Episode แรกในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 นี้
รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากสภาวะสถานการณ์และเศรษฐกิจในปัจจุบันสร้างความตระหนกให้กับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ SME ไปจนถึงระดับบุคคล สิ่งเหล่านี้คือความกังวลของทุกธุรกิจทุกคน ดังนั้นการตั้งรับอย่างถูกวิธี รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง คณะพาณิชยศาสตร์ฯ โดยคณาจารย์ภาควิชาการธนาคารและการเงิน จึงได้จัดทำคู่มือการดำเนินธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตอย่างไรให้รอดทุกเรื่องในท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งหมดนี้ กับ 7 CBS Series 7 ทางรอดวิกฤตเงินเฟ้อ#รู้แล้วรอด ถอดบทเรียนสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ใน 7 เรื่องสำคัญ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและนำไปใช้ได้จริง
รศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน กล่าวว่า ปัจจุบันโควิดยังอยู่และสภาวะแวดล้อมก็ยังไม่ดีขึ้น ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างแรงและเร็ว โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า ก็ยิ่งทวีความท้าทาย ถึงแม้มีการเปิดเมืองและการกลับมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แต่ก็อาจไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะสภาวะความบอบช้ำอันมาจากการต่อสู้กับโควิดทำให้ภูมิคุ้มกันทางการเงินลดลง อีกทั้งยังต้องมาต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้ออีก ทำให้เกิดสิ่งที่กังวลมากมาย อาทิ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเดิมทีประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงอยู่แล้ว ในสภาวะปัจจุบันที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ไม่ว่าจะมาจากราคาของสินค้าและบริการ หรือต้นทุนทางการเงินสำหรับท่านที่มีหนี้ เมื่อรายได้ไม่โตแต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ก็ส่งผลต่อการออมและสะสมสินทรัพย์ และเมื่อมีเงินไม่พอใช้ก็จำเป็นต้องไปก่อหนี้ จนอาจตกอยู่ในวงจรหนี้ในที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิกฤตซ้ำซ้อน วิกฤตรายได้ วิกฤตเงินเฟ้อ วิกฤตหนี้ วิกฤตการออม และในกรณีที่มีการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม เช่น บริหารสภาพคล่องผิดพลาด ก่อหนี้ผิดประเภท ชะล่าใจไม่ออม หรือลงทุนในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยขยายผลทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จึงเป็นปัญหาของสังคมที่เราทุกคนต้องช่วยกันแก้
ดังนั้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ จากการจัดทำคลิป “รู้แล้วรอด” ทางทีมคณาจารย์ได้นำข้อมูลที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงปัญหา พร้อมแนะนำเทคนิคการรับมือ ซึ่งรายละเอียดองค์ความรู้ที่จะเผยแพร่ประกอบด้วย
Introduction EP. 7 เรื่อง รู้แล้วรอด โดย รศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน
EP.1 เงินเฟ้อ ของแพง ไม่หมดแรง ทำไง โดย ผศ.ดร.พรพิชยา กุวลัยรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน
EP.2 ดอกเบี้ยและภาระหนี้กับสถานการณ์เงินเฟ้อสูง โดย รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคาร
และการเงิน
EP.3 วิกฤตพลังงานแพง ไปต่อหรือพอแค่นี้ รับมือยังไงไม่พัง โดย ผศ.ดร.อนิรุต พิเสกฎฐศลาศัย อาจารย์ประจำภาควิชาการ
ธนาคารและการเงิน
EP.4 ลงทุนสู้เงินเฟ้อ โดย ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน
EP.5 เงินเฟ้อกับอัตราแลกเปลี่ยน โดย ผศ.ดร.รัฐชัย ศีลาเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน
EP.6 หนี้มาเยือน เตือนกันไว้ รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน
EP.7 ออมและ ออมอย่ายอมลด โดย ดร.ธนวิต แซ่ซือ อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน
โดยจะเปิดตัว Episode แรกในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 น.ผ่านทาง facebook และ Youtube Live ได้ทาง F: CBS Chula และ CBS Academy
รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปิดท้ายว่า การจัดทำ CBS 7 Series นี้ มุ่งหวังให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น เพราะ “เชื้อโรค” ทางการเงินเหล่านี้ลุกลามไวและแผ่ไปได้ทุกกระเบียดนิ้วของสังคม การป้องกัน “ไม่ให้ติดเชื้อจนเรื้อรัง” จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมไม่ขยายไปไกลกว่าที่เป็น