ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้า ทำให้อายุขัยของมนุษย์ยืนยาวขึ้น แต่กลับมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “ภาระโรคซ้ำซ้อน” หรือ Triple Burden of Diseases เป็นปัญหาสุขภาพใหญ่ของโลกยุคใหม่ ซึ่งภาวะนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิต ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับหลายโรคพร้อมกัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมาก
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช และ Co-host 26 สถาบัน จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “Triple Burden of Diseases : Nurse-Led Game Changer to Optimize the Outcomes of Care” หรือ TBD 2025 ขึ้น ระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2568 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการจัดการภาระโรคซ้ำซ้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดงานและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการภาระโรคซ้ำซ้อน และบทบาทสำคัญของพยาบาลในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและยกระดับการดูแลสุขภาพโดยรวม ซึ่งต้องอาศัยความเมตตา ภาวะผู้นำ และการทำงานร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการจัดการภาระโรคซ้ำซ้อน โดยมุ่งเน้นการใช้ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งส่งเสริมให้พยาบาลได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลจากหลากหลายสถาบันทั่วโลก เพื่อร่วมกันพัฒนาการดูแลประชาชนและจัดการภาระโรคซ้ำซ้อนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ภาระโรคซ้ำซ้อน หมายถึง การที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน เช่น โรคเรื้อรังหลายชนิดพร้อมกัน หรืออาจป่วยพร้อมกันได้ทั้งจากโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงกรณีที่ประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการหกล้มแล้วทำให้ข้อสะโพกหัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ก็จะยิ่งส่งผลให้การดูแลรักษามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของการดูแลสุขภาพ ได้แก่
- ความซับซ้อนของโรค: ผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งอาจป่วยเป็นโรคติดต่อร่วมด้วย เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 และอาจประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บได้ ในช่วงเวลาเดียวกัน
- การดูแลผู้ป่วยรายบุคคล: แต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน การดูแลจึงต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละรายบุคคลอย่างบูรณาการ
- การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า: การดูแลสุขภาพแบบรายบุคคลต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน Prof. Patricia Davidson จาก University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่าภาระโรคซ้ำซ้อนได้สร้างความตื่นตัวให้ประเทศต้องหันมาเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและการประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขทั้งระบบ ตั้งแต่การป้องกันจนถึงการดูแลหลังการรักษา โดยชี้ให้เห็นว่าออสเตรเลียและไทยมีระบบสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดการปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในออสเตรเลียที่ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงถึง 45-50 องศาในบางพื้นที่
ภายในงานประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีผู้สนใจตอบรับร่วมงานกว่า 450 คนทั่วโลก ประกอบด้วย คณาจารย์ พยาบาลวิชาชีพ นักศึกษาพยาบาล จากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์และพยาบาลจากนานาประเทศ อาทิ Dr. Leslie D. Mancuso, President & CEO of Jhpiego องค์กรอิสระเอกชนชั้นนำทางสุขภาพ, ศาสตราจารย์ ดร.นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ (มศธส.), ศาสตราจารย์ ดร.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ, Prof. Patricia Davidson Vice-Chancellor Fellow, University of New South Wales, Australia และศาสตราจารย์ ดร.ศิริอร สินธุ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลอีกมากมาย
รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร กล่าวเสริมว่า พยาบาลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาระโรคซ้ำซ้อน และเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา โดยสามารถประเมินสภาพผู้ป่วยและวางแผนการดูแลที่เหมาะสม สามารถให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเอง รวมถึงประสานงานกับทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลได้อย่างครอบคลุม
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการดูแลสุขภาพของประเทศไทยและทั่วโลก เป็นการตอกย้ำบทบาทของพยาบาลในการเป็นผู้นำในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับมือกับปัญหาภาระโรคซ้ำซ้อนที่ซับซ้อนและท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและแนวทางการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ns.mahidol.ac.th/TBD2025/ หรือโทร. 02-441-5333 ต่อ 2460, 2465 และ 0-8180-43957