สสช. เดินหน้าจัดกิจกรรมสัญจร ขับเคลื่อน พัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดและอำเภอ ภายใต้หัวข้อ A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” สำนักงานสถิติแห่งชาติ เดินหน้าจัดกิจกรรมสร้างความหนักรู้การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดและอำเภอ ภายใต้หัวข้อ A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” ครั้งที่ ๑ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ ลาน Pre-Function ชั้น ๒ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยา
โดยมี นายประพันธ์ ตรีบุปผา รองผู้ว่าราชการ กล่าวต้อนรับว่าการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องร่วมมือกัน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของจังหวัด และยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชน เชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนา “อยุธยาเมืองมรดกโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ น่าเรียนรู้ น่าอยู่ น่าลงทุน”
ด้านนายจำลอง เก่งตรง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมฯในครั้งนี้มีว่า
๑. เพื่อสร้างการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานทำโครงการฯ และภารกิจการขับเคลื่อนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่ไปสู่ประชาชน
๒. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาดของประชาชน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่
๓. เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง เตือนภัย และป้องกันภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ ๆ และในวันนี้ประกอบด้วย ๒ กิจกรรม ได้แก่ นิทรรศการส่งเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัล มิติ ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) และ มิติ ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ) พร้อมทั้งการเสวนาหัวข้อ “Digital-Driven Communities: ปลอดภัย มั่นใจ ยั่งยืน” โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประธานเปิดงานในพิธี กล่าวว่า ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การทำงาน การเรียนรู้ หรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาท และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปอย่างมาก ในขณะที่ เทคโนโลยีดิจิทัลนำมาซึ่งความสะดวกสบาย แต่ก็มาพร้อมกับภัยคุกคามต่าง ๆ เช่นกัน อาทิ การหลอกลวงออนไลน์ การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือการแฮ็กข้อมูล ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อความปลอดภัยและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นในวันนี้ เราจะมาเตรียมความพร้อม สำหรับการเป็น A Good Digital Citizen หรือการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ‘ความเป็นพลเมืองดิจิทัล’ ประกอบด้วย ความรับผิดชอบ มีจริยธรรม เห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น มีส่วนร่วม และมุ่งเน้นความเป็นธรรม ในสังคม เพื่อรักษากฎเกณฑ์ สมดุล ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในโลกออนไลน์ ที่มีสมาชิกที่รวมคนทั่วโลกใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งทักษะของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี มีอยู่ 8 ทักษะดังนี้
1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity) ต้องมี ความสามารถในการสร้างสมดุล บริหารจัดการ รักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองไว้ให้ ได้ ทั้งในส่วนของโลกออนไลน์และโลกความจริง
2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) ดุลพินิจในการ บริหารจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็น ส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น เคารพในสิทธิของคนทุกคน รู้ว่าข้อมูลใดควรเผยแพร่ ข้อมูลใดไม่ควรเผยแพร่ และต้องจัดการความเสี่ยงของข้อมูลของตนในสื่อสังคม ดิจิทัลได้ด้วย
3. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking) ความสามารถ ในการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิด หาคำตอบให้ชัดเจน ก่อนเชื่อและนำไปแชร์
4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management) ทักษะในการ บริหารเวลากับการใช้อุปกรณ์ยุคดิจิทัล
5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management) ควรมีความสามารถในการรับรู้และรับมือการคุกคามข่มขู่บนโลกออนไลน์ได้อย่าง ชาญฉลาด เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้างจากการคุกคามทางโลกออนไลน์ให้ได้
6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints) ต้องมีทักษะความสามารถที่จะเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิต ในโลกดิจิทัล ว่าจะหลงเหลือร่องรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ รวมไปถึงต้องเข้าใจผลลัพธ์ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ
7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management) ความสามารถในการป้องกันข้อมูลด้วยการสร้างระบบความ ปลอดภัยที่เข้มแข็งและป้องกันการโจรกรรมข้อมูลไม่ให้เกิดขึ้นได้
8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy) พลเมืองดิจิทัลที่ดี จะต้องรู้ถึงคุณค่าและจริยธรรมจากการใช้เทคโนโลยี ต้องตระหนักถึงผลพวงทาง สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิตจังหวัดและเครือข่ายหน่วยงานภาคีในระดับจังหวัด ถือเป็นผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง ด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ขยายผลไปสู่ภาคประชาชน ในระดับพื้นที่จังหวัดและอำเภอ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง กว้างขวางในทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และสามารถ ปกป้องตนเองจากภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเคารพสิทธิ ของตนเองและผู้อื่น เตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ