จากเทรนด์กระแสการรักษ์สิ่งแวดล้อม ใครจะคิดว่า จะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ผลักดันให้หญิงสาวคนหนึ่ง ก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน พร้อมกับความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะทำให้ทุกคนในสังคมได้รับอากาศที่สะอาด และปราศจากมลพิษ
อรวรรณ ชวดมี กรรมการบริหารใหญ่บริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (Arrow Energy Co.,Ltd.) เล่าถึงแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าว่า ด้วยแนวโน้มและกระแสความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เธอตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด “ฝ้ายเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยงานแรกที่ฝ้ายทำก็คือ การเป็นวิศวกรฝ่ายขาย (Sales engineer) จำหน่ายระบบไฟฟ้าให้โรงงานอุตสาหกรรม”
แรงผลักดัน สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด
ขณะเดียวกัน การสังเกต และคาดการณ์ถึงแนวโน้มของการใช้พลังงานอย่างมีนัยยะสำคัญ ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้เธอ ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และใช้เงินเก็บที่มี เปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมา “กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ทุกคนทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจาก การใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ทั้งมลพิษทางอากาศ และก๊าซเรือนกระจก จนกลายเป็นภาวะโลกร้อนอย่างทุกวันนี้”
“บริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ จึงเรียกว่า เป็นอีกหนึ่งคำตอบของการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเดิมทีนับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจของเราขึ้นมา เราวางให้เป็นธุรกิจแบบ B2B เพราะลูกค้าของเราคือโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการใช้หม้อต้มไอน้ำ(Boiler) และเครื่องดักจับฝุ่นในกระบวณการผลิต โดยจุดเด่นของโรงงานเหล่านี้คือจะใช้เชื้อเพลิงแบบชีวมวล ที่ได้มาจากซากพืชจากการทำเกษตรกรรม เช่น แกลบข้าว ชานอ้อย และปาล์ม ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างและเพิ่มประสิทธิภาพให้หม้อต้มไอน้ำ เรายังสร้างอุปกรณ์ที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดี โดยวันนี้ เราให้บริการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานอุตสาหกรรมแล้วกว่า 80 โรงงานทั่วภูมิภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นการตอกย้ำ การแก้ไขปัญหาพลังงานของโลก อย่างยั่งยืน”
เทรนด์พลังงานเพื่อชีวิตอนาคต
นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว “ฝ้าย-อรวรรณ” ในฐานะของกรรมการบริหารใหญ่ของบริษัท ยังได้ตระหนักไปถึงมลพิษที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพฯ ด้วยว่า กำลังเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานพาหนะ ทั้งฝุ่น และควันตามท้องถนน “เทรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึง ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และปัญหาโลกร้อนได้ บริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ ของเรา จึงเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจไลน์ใหม่ โดยใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญของเราที่มี ทำสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มาช่วยสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น” คุณอรวรรณ บอกด้วยว่า นี่เป็นอีกหนึ่งนโยบายของบริษัท ที่ต้องการขยายธุรกิจ ในแบบ B2C เพื่อให้เข้าถึงผู้คนในสังคม ไปพร้อมๆ กับ การสร้างความตระหนักถึงเรื่องพลังงานแห่งโลกอนาคต
“Q Charge คือแบรนด์ธุรกิจที่เราแตกไลน์ใหม่ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ในฐานะสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่จะติดตั้งอยู่ทุกอาคารในกรุงเทพฯ และ หัวเมืองต่างๆ เพื่อให้คนเห็นจนรู้สึกคุ้นชิน และ มั่นใจมากขึ้นที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผลักดันแผนพัฒนา EV ของประเทศไทย ซึ่งวันนี้เราได้ติดตั้งสถานี Q Charge ไปแล้วกว่า 10 จุดในกรุงเทพฯ โดย 8 สถานีจะอยู่ในชั้นจอดรถของคอนโดมิเนียม และอีก 2 สถานีจะอยู่ในโรงพยายาล” สำหรับในอนาคต ผู้บริหารสาวย้ำอย่างหนักแน่นว่า จะติดตั้ง Q Charge ให้ได้ถึง 2500 จุด ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งก็จะรวมถึงการติดตั้งในพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึง ห้างสรรพสินค้า อาคารแบบไฮไรส์ และ โรงแรมด้วย
เตรียมพร้อมสู่เป้าหมายความสำเร็จ
“ในปีนี้ (2565) เราจะเน้นติดตั้งที่กรุงเทพฯก่อน และจะเริ่มกระจายไปติดตั้งตามจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่, พัทยา, ขอนแก่น, และภูเก็ต ภายในปีหน้า ซึ่งฝ้ายมองว่า ความสำเร็จของตัวเอง คือการทำให้ Q Charge เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย” ทั้งนี้ คุณอรวรรณ ยังคาดหวังด้วยว่าเธอ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย “แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ในปีนี้ ถ้า Q Charge มีจำนวนจุดติดตั้ง และมียอดการสั่งซื้อเครื่องชาร์จ สำหรับติดตั้งในบ้าน ได้ตามแผนที่วางไว้ ฝ้ายก็ถือว่า ประสบความสำเร็จในขั้นแรกแล้วค่ะ”
“นับตั้งแต่เราเริ่มมีการติดต่อ อาคาร และคอนโดมิเนียมต่างๆ เพื่อเสนอการติดตั้งสถานี Q Charge ฝ้ายพบว่า มีคนสนใจและต้องการที่จะติดตั้งสถานีมากกว่า 80% รวมถึงให้เข้าไปสำรวจและนำเสนอแล้วมากกว่า 50% ตอบรับที่จะติดตั้งให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นจำนวนสูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ในตอนแรกเป็นอย่างมาก ณ วันนี้เราได้ทำการสำรวจและศึกษาแนวโน้มการเติบโตของตลาดจากสถาบันวิจัยต่างๆ จึงได้ตั้งเป้าใหม่ให้ตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาแรงในขณะนี้ คิวชาร์จทุ่มทุนกับการวิจัยพัฒนาและมีแผนจะทำการตลาดแบบอิมแพ็ค เพื่อให้ปีนี้ธุรกิจสถานีชาร์จเติบโตมากกว่า 1000%” ซึ่งในอนาคต ทางคุณฝ้าย ยังวางแผนที่จะมองหาพันธมิตรทางธุรกิจกับภาครัฐ อย่าง การไฟฟ้า ด้วย “นอกจากตลาดในประเทศแล้วเรายังตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่าง อินเดีย และ อินโดนีเซีย ด้วย เนื่องจากมีฐานธุรกิจของบริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ และรู้จักตลาดในประเทศดังกล่าวเป็นอย่างดี ทำให้ง่ายต่อการขยายธุรกิจต่อไป”
จุดเด่น Q Charge
สำหรับราคาค่าชาร์จไฟฟ้า จากสถานี Q Charge จะอยู่ที่ ยูนิตละ 10 บาท และ Premium Rate จะอยู่ที่ 15 บาทต่อยูนิต “Q Charge ของเรา มีจุดเด่นอยู่ที่ สถานีชาร์จที่เน้นการบริการ สร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า เมื่อลูกค้าใช้งานแล้วต้องติดใจอยากกลับมาใช้อีก ขณะเดียวกัน เรายังได้เสนอบริการรายเดือนรูปแบบต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายที่สุดอีกด้วย เราพัฒนาให้ระบบของคิวชาร์จรันออนไลน์ 100% เพียงดาวน์โหลดแอพ Q Charge ก็ใช้บริการสถานีทั้งชาร์จและเติมเงินผ่านแอพได้เลย นอกจากนี้เรายังมีทีมเซอร์วิสซัพพอร์ตที่คอยตรวจความพร้อมของเครื่องชาร์จเป็นประจำ สรุปยอดบิลรายเดือน เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบ รวมถึงแก้ปัญหาทันทีหากมีระบบขัดข้องอีกด้วย”
“สำหรับแท่นชาร์จ ของเราในช่วงแรก จะเน้นเป็นแบบ AC ผ่าน on-board ในตัวรถเพื่อรักษาคุณภาพแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยระยะเวลาของการชาร์จแบบนี้ จะขึ้นอยู่กับ on-board ของรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละรุ่น ซึ่งบางรุ่นรับไฟฟ้าได้ 11 หรือ 22 กิโลวัตต์ ก็จะชาร์จได้เร็วกว่ารุ่นที่รับไฟฟ้าได้ 7 กิโลวัตต์นั่นเอง” ทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งความตั้งใจ และความทุ่มเทของ ผู้หญิงที่ชื่อ “ฝ้าย-อรวรรณ ชวดมี ที่ต้องการให้โลกของเราสะอาด และมีอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกๆ คน ได้หายใจอย่างไร้ความกังวล
Recent Comments