ในปี 2567 นับว่าเป็นปีทองของคอนเทนต์ไทยตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน ต่างเรียกกระแสความนิยม ได้รับความสนใจจากผู้ชมและสร้างความสำเร็จให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และหากจะให้ไล่เรียงคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จคงไม่ครบถ้วน เพราะอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยนั้นเติบโตได้ด้วยคุณภาพและความหลากหลายที่ตอบโจทย์ผู้ชมได้ครบทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่คอนเทนต์แนวสยองขวัญ (Horror Film) ที่ครองแชมป์ความนิยมของผู้ชมชาวไทยมาโดยตลอด แต่ความแรงของคอนเทนต์ไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีมาให้ชมกันหลากหลายรสชาติ ทั้งแนว คอมเมดี้ ดราม่า แอ็คชั่น ที่ต่างก็ประสบความสำเร็จได้รับเสียงตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน
คอนเทนต์ Thai Style กับความสำเร็จระดับอินเตอร์
‘คอนเทนต์ไทย’ ไม่เพียงแต่ความนิยมและกระแสผู้ชมจากในประเทศเท่านั้น เพราะท่ามกลางการเติบโตและการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของคอนเทนต์จากทั่วโลก คอนเทนต์ไทยได้เฉิดฉายและสร้างชื่อเสียงในเวทีระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทแอนิเมชั่นอย่าง องครักษ์พิทักษ์เจี๊ยบ ที่รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 ภาพยนตร์แอนิเมชัน ให้เป็น Annecy Selections หมวด Annecy Presents จากงาน Annecy International Animation Film Festival ปี 2024 มาครอง ด้านประเภทซีรีส์อย่าง DELETE ก็คว้ารางวัลในงาน 29th Asian Television Awards (ATA) งานประกาศรางวัลรายการโทรทัศน์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียมาถึง 2 รางวัล รวมถึง สืบสันดาน ที่กลายเป็นซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่สามารถขึ้นครองอันดับ 1 บนชาร์ต Netflix Global Top 10 หมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) รวมถึงครองอันดับ 1 ซีรีส์ที่มียอดรับชมสูงสุดใน 10 ประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในปี 2567 ภาพยนตร์ไทยทำรายได้รวมในประเทศกว่า 2,438 ล้านบาท โดยตลอดทั้งปีมีภาพยนตร์ที่สร้างความคึกคัก สีสันและความสนุกให้กับวงการมากมายอาทิ ธี่หยด2, วิมานหนาม, อนงค์, วัยหนุ่ม 2544 และล่าสุดกับปรากฎการณ์ หลานม่า ที่เดินสายกวาดรางวัลจากทั่วโลก อาทิ รางวัล Best Leading Actor (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล), รางวัล Best Picture และรางวัล Best Original Screenplay ในงานประกาศรางวัล The 61st Asia Pacific Film Festival, รางวัล Audience Award จากเทศกาลภาพยนตร์ New York Asian Film Festival 2024, รางวัล Honorable Mention ในสาขา Best Picture และ Best Performance in a Leading Role จากงาน Gold List Film 2025 ของสถาบัน Gold House, ได้รับการโหวตจากผู้ชมให้เป็น 1 ใน Best of Fest: Audience Favorites ของ 2025 Palm Springs International Film Festival และ คว้าอันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์เอเชีย และอันดับ 3 หนังที่ได้รับคะแนนสูงสุดจาก Letterboxd’s 2024 Year in Review
ทั้งรางวัล รายได้ และกระแสการตอบรับอย่างล้นหลามของผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ตอกย้ำศักยภาพของบุคลากรไทยที่สามารถรังสรรค์ผลงานที่เต็มไปด้วยความเป็นเอกลักษณ์ ผสานความคิดสร้างสรรค์ และการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจและหลากหลาย ส่งผลให้คอนเทนต์ในแบบ Thai Style สามารถขยายฐานผู้ชมไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้าทางอ้อมผ่านคอนเทนต์ไทย ตลอดจนสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจในภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น ฯลฯ อีกมากมาย
เติบโตพร้อมความท้าทาย ก้าวต่อไปของคอนเทนต์ไทยในปี 68
ความสำเร็จและการเติบโตย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย ทำให้ในปี 2568 อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์และทำให้ต้องปรับตัวรับเทรนด์และความซับซ้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัจจัยด้านเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาทักษะและเงินทุน ตลอดจนการแข่งขันกับคอนเทนต์ทั้งในประเทศและในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์ของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมและสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย อย่างไรก็ตามแม้ว่าเทรนด์การรับชมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น การเปลี่ยนจากทีวีสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิง หรือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการบริโภคคอนเทนต์แบบสั้น แต่ความต้องการในการบริโภคคอนเทนต์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ผู้ชมยังคงมองหาคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความสนใจ และสร้างคุณค่าในเชิงอารมณ์หรือความรู้ สะท้อนให้เห็นว่า การผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยังคงเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมคอนเทนต์และปัจจัยการแข่งขันต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังผลักดนให้เหล่านักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทยได้แสดงศักยภาพ พัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานให้สามารถทัดเทียมมาตรฐานในระดับสากลได้อีกด้วย
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “การเติบโตและการแข่งขันในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยไม่เพียงแต่ส่งผลดีและเสริมสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง ให้กับอุตสาหกรรมคอนเทนต์หรือวงการบันเทิงเท่านั้น แต่ยังส่งผลในการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับประเทศอีกด้วย CEA จึงมุ่งมั่นผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตในอนาคต โดยเน้นสร้างเครือข่ายบุคลากรและความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน สนับสนุนการเรียนรู้และเติบโตของบุคลการอย่างรอบด้าน ผ่านโครงการ ‘Content Lab 2025’ สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ที่เตรียมเปิดให้เหล่านักสร้างสรรค์ได้เข้าร่วมและเดินหน้าผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ก้าวสู่ระดับโลกไปพร้อมกัน”
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2025 ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Content Lab รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th