เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566 เวลา 8.30 น. นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานพิธีถวายเทียนพรรษาทางน้ำ ครั้งที่ 17 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาอาเซียน จังหวัดสงขลา ประจำปี 2566 ณ วัดคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดยบูรณาการร่วมกับภาคคณะสงฆ์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา สภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมประกอบด้วยการถวายเทียนพรรษา การถวายผ้าอาบน้ำฝน ให้แก่วัดคลองแห และวัดในอำเภอหาดใหญ่และอำเภอบางกล่ำ รวมจำนวน 10 วัด เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา รวมถึงยังส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติศาสนา ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่พุทธศาสนนิกชนชาวไทย ชาวเมียนมา และชาวไทยเชื้อสายจีน จำนวนกว่า 500 คน
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย การนับถือพระพุทธศาสนาในมาเลเซียมีเฉพาะผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากจีน ลังกา เมียนมา และชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย ซึ่งบางส่วนอาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา โดยยังคงดำรงรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม การปฎิบัติ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ จังหวัดสงขลายังมีชาวเมียนมาและกัมพูชาเข้ามาทำงานในจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนมีความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านเชื้อชาติ ภาษา และการดำรงคชีวิต แต่ยังคงอยู่ร่วมกันได้ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยดำเนินการภายใต้เสาหลักด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในภูมิภาคอาเซียน อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมที่เอื้ออาทรและมีความมั่นคง
สำหรับเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาในปีนี้ กรมการศาสนา ได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา จัดพิธีถวายเทียนพรรษาทางน้ำ ครั้งที่ 17 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาอาเซียน จังหวัดสงขลา ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องประชาชนอาเซียนตามชายแดน อันจะก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสู่เด็ก เยาวชนและประชาชน ในการประกอบคุณงามความดีถวายเป็นพุทธบูชา และสืบทอดพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้ยั่งยืนถาวร
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำในมิติศาสนาและวัฒนธรรม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการค้าขายอาหารและสินค้าพื้นถิ่น ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน และเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นการนำทุนทางศาสนาและวัฒนธรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง