สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึกพลัง 5 องค์กรภาครัฐ-เอกชน หนุนประเทศไทยเป็น ‘ผู้นำเศรษฐกิจอวกาศ’ (Space Economy) และก้าวเป็น ‘ฮับอวกาศในอาเซียน’ ได้ หากรัฐบาลใหม่เร่งส่งเสริมและสร้าง Eco-Systems ให้รวดเร็ว เผยแนวโน้มการใช้จรวดนำส่งขนาดเล็กต้นทุนต่ำ และดาวเทียมขนาดเล็กไฮเทคเป็นที่ต้องการทั่วโลก พร้อมดีเดย์เปิด ศูนย์อวกาศ KMITL Space Hub อย่างเป็นทางการในชุมพร ณ วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ด้วยความร่วมมือจากองค์กรด้านอวกาศจากญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐ ต่างยกให้เป็นทำเลทองของ ‘ท่าอวกาศยาน’ ที่ดีที่สุด 1 ใน 4 ของโลก สจล.ชูสามหลักสูตรสร้างกำลังคนป้อนเศรษฐกิจอวกาศและการบินยุคใหม่ เผยแผน 2 โครงการร่วมกับนานาชาติ คือ โครงการห้องแล็บอวกาศ และการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กสู่อวกาศ
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมสามหน่วยงาน วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. (IAAI), คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และ วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สจล. กล่าวว่า เทคโนโลยีอวกาศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยและทั่วโลก เช่น อินเตอร์เน็ต การถ่ายทอดสด การศึกษาทางไกล การแพทย์ทางไกล ระบบจีพีเอส โดรน การติดตามก๊าซเรือนกระจก เฝ้าระวังผลกระทบจาก Climate Change ไฟป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่น PM2.5 เป็นต้น สจล. มุ่งสู่การเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับการวิจัยพัฒนากับนานาชาติ การผนึกกำลังกันของ สจล.และ 5 องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศในวันนี้ ประกอบด้วย 1.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), 2.สถาบันวิจัยนานาชาติเทคโนโลยีสารสนเทศของญี่ปุ่น (NICT), 3.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), 4.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และ 5.บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นับเป็นแรงพลังที่เข้มแข็งในการพัฒนางานนวัตกรรมและการเติบโตของ ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ (Space Economy) เพื่อคนไทย เศรษฐกิจไทย และประชาคมโลก ต่อยอดความมั่นคงยั่งยืนของอุตสาหกรรมดิจิทัลและที่เกี่ยวเนื่อง เฝ้าระวังและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (Climate change) หากประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่เริ่มส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศได้เร็วก็สามารถจะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเป็น ‘ฮับอวกาศในอาเซียน’ ได้
วันนี้ยังเป็นโอกาสดีที่ สจล. ได้เปิด KMITL Space Hub อย่างเป็นทางการ ภายใต้วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (IAAI) ตั้งอยู่ในพื้นที่วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เป็นศูนย์เรียนรู้ วิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ เยาวชน จนถึงประชาชนสามารถมาเรียนรู้และเที่ยวชมได้ ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญคือ
1. สถานีตรวจวัดสภาพอวกาศย่านความถี่สูงมาก (VHF) โดยติดตั้งเรดาร์อวกาศ เมื่อ 17 มกราคม 2563 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นแห่งแรกในเอเชีย และเป็น 1 ใน 4 จุดที่ตั้งดีที่สุด
2. สถานีตรวจจับการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติ (PCMS) พร้อมอุปกรณ์ GNSS เมื่อ 30 เมษายน 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการติดตาม วิเคราะห์และศึกษาวิจัยภัยพิบัติ
3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย หรือ ECSTAR ที่วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ เพื่อบูรณาการงานวิจัยนวัตกรรมด้านอวกาศ สจล. ที่มุ่งเน้นด้าน เทคโนโลยีอวกาศต้นน้ำ Upstream เช่น การสร้างดาวเทียม เทคโนโลยีดาวเทียม การปล่อยดาวเทียมสู่อวกาศ การรับ-ส่งสัญญานการควบคุมดาวเทียมในอวกาศ
4. โครงการจัดตั้งสถาบันอวกาศ-โลก และสิ่งแวดล้อม (The Institute of Space-Earth and Environment) หรือ ISEE ที่วิทยาเขตชุมพรฯ มุ่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศ Downstream เช่น การถอดรหัสสัญญานการนำข้อมูลสภาพอวกาศย่านความถี่สูง ข้อมูล PCMS หรือข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมนำมาวิเคราะห์ในด้านต่างๆ สิ่งแวดล้อม ภาพถ่ายความคมชัดสูง การดูแลป่าไม้ การจัดการการใช้ที่ดิน และด้านความมั่นคง เป็นต้น
5. ศูนย์ Space Learning Park แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศสำหรับเยาวชนและประชาชนทุกเพศทุกวัย ได้เข้ามาทัศนศึกษาทำความรู้จักกับอวกาศ ปรากฏการณ์ เทคโนโลยีอวกาศที่นำมาใช้ประโยชน์ต่อมนุษยชาติในด้านต่างๆ เช่น ดาวเทียม จรวด ยานขนส่งอวกาศ สถานีอวกาศ ยานสำรวจอวกาศ รวมทั้งนิทรรศการ กิจกรรม และเวิร์กชอปที่สนุกและได้ความรู้
สำหรับ จุดเด่นของพื้นที่ชุมพร ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่าเหมาะกับการเป็น ท่าอวกาศยาน (Spaceport) และการทำงานด้านสำรวจวิจัยอวกาศ นับเป็น 1 ใน 4 จุดใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกที่ดีที่สุดในโลกเท่าที่มีอยู่ นอกเหนือจากแอฟริกา บราซิล และ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีความโดดเด่น 5 ประการคือ อยู่ใกล้บริเวณศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก มีทะเลขนาบทั้งสองฝั่งซ้าย-ขวา ภูมิศาสตร์แนวชายฝั่งเป็นคาบสมุทร ไม่มีภัยพิบัติที่รุนแรง และมีเส้นทางคมนาคมหลากหลายและเข้าถึงสะดวก
พันเอก รศ. ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และอดีตประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวถึง ทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจอวกาศ (Direction of Space Economy) ว่า การแข่งขันทางด้านอวกาศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอวกาศจันทรายานโดยอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ การประกอบสถานีอวกาศของจีนเพื่อการสร้างนิคมอวกาศ หรือโครงการอาร์ธิมิสของสหรัฐอเมริกาที่จะนำผู้คนหลักสิบหลักร้อยคนไปเยือนดวงจันทร์ในคราวเดียว และความมุ่งหวังที่จะตั้งรกรากบนดาวอังคารด้วยยานอวกาศสตาร์ชิพของ บริษัท สเปซเอ็กซ์ และอื่นๆ อีกมาก แสดงให้เห็นถึงความพยายามของนานาประเทศที่จะพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของตนให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
การพัฒนา ‘เทคโนโลยีอวกาศต้นน้ำ’ (Upstream) จะขาดการต่อยอดหรือนำไปใช้อย่างคุ้มค่าไม่ได้ ‘เทคโนโลยีอวกาศปลายน้ำ’ หรือ Downstream เป็นการพัฒนาโซลูชั่น กระบวนการ และวิธีการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศต่างๆ การใช้ประโยชน์ภาพถ่ายดาวเทียม ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงแล้ว แต่ไม่มีระบบประมวลผลหรือ AI ที่จะเข้ามาช่วยเราในการวิเคราะห์ความหมายของภาพ เช่น ปริมาณน้ำที่เหลือในแหล่งกักเก็บ จุด Hot Spot ที่ต้องระมัดระวัง หรือการเกษตรที่ต้องการการดูแลอย่างทั่วถึงเพื่อผลผลิตที่ดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เราไม่สามารถใช้มนุษย์ หรือ manual เองได้ทั้งหมด การพัฒนาเทคโนโลยีปลายน้ำ downstream จึงมีความสำคัญมากไม่แพ้กัน
ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่าง ‘ดาวเทียม’ก้าวไปไกล ‘ดาวเทียมขนาดเล็ก’ หรือ ‘คิวบ์แซท’ (CubeSat) สามารถปฏิบัติการเทียบเท่าดาวเทียมขนาดใหญ่ได้อย่างน่าทึ่งมาก แม้แต่ดาวเทียมสำรวจสภาพอากาศดวงใหญ่ๆ อย่างดาวเทียมโนอา ก็เริ่มใช้งานกลุ่มดาวเทียมวงโคจรต่ำขนาดเล็ก (LEO Constellation) แทนแล้ว หรืออย่างกลุ่มดาวเทียมอินเตอร์เน็ต Starlink ก็มีดาวเทียมวงโคจรต่ำปฏิบัติการอยู่กว่า 4,500 ดวงในปัจจุบัน
แนวโน้มการส่ง ‘ดาวเทียมขนาดเล็ก’ หรือ ‘คิวบ์แซท’ (CubeSat) จะเพิ่มจำนวนสูงยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนา ‘จรวดนำส่งขนาดเล็กต้นทุนต่ำ’ ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งการพัฒนา Eco System ส่งเสริม Space Economy และการพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียม Satellite Industry โดยเร็ว สำหรับ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นั้นได้มีบริษัทอวกาศจากต่างประเทศมาวิเคราะห์และเล็งเห็นว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะในการสร้าง ‘ท่าอวกาศยาน’(Spaceport) หรือ ‘ฐานปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียม’ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก
ผศ. ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดี วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. (IAAI) กล่าวว่า ภารกิจการบินและอวกาศของ IAAI แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ สร้างกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โดยมี 3 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) ออกแบบ ผลิตอากาศยาน ดาวเทียม และระบบเทคโนโลยีอวกาศ 2. หลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ (Aeronautical Engineering and Commercial Pilot) ป้อนสายการบินและศูนย์อากาศยาน 3. หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management) ระบบขนส่งทางเครื่องบิน และอากาศยานในอนาคต นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อป สัมมนาระยะสั้น เช่น การสร้างดาวเทียมและสัญญานควบคุม การก้าวเป็นสตาร์ทอัพด้านอวกาศ ค่ายเยาวชนสร้างดาวเทียม เป็นต้น อีกด้านหนึ่งเป็น งานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศ Upstream และ downstream เช่น เทคโนโลยีดาวเทียม นำข้อมูลสภาพอวกาศย่านความถี่สูง ข้อมูล PCMS หรือข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมนำมาวิเคราะห์ในด้านต่างๆ เช่น การสำรวจวิเคราะห์ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ภาพถ่ายความคมชัดสูง การใช้ที่ดิน และด้านความมั่นคง เป็นต้น
มูลค่าเศรษฐกิจอวกาศทั่วโลกปี 2565 ประมาณ 16 ล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าในอนาคตจะเกิดอาชีพใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 300 – 400 อาชีพ เป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริมธุรกิจและสตาร์ทอัพที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศยุคใหม่ เช่น ธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก นวัตกรรมอุปกรณ์สื่อสารขั้นสูง ธุรกิจระบบจัดการบนอวกาศ ธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ เทคโนโลยีอวกาศเพื่อจัดการ ‘Climate Change’ การติดตามก๊าซเรือนกระจก เฝ้าระวังผลกระทบจาก Climate Change ทั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภัยจากแผ่นดินทรุดตัว ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง PM 2.5 และการเตือนภัยไฟป่า
ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ วิทยาลัยอุตสากรรมการบินนานาชาติ สจล. (IAAI) ได้ผนึกความร่วมมือกับองค์กรที่มีความก้าวหน้าระดับโลก เช่น ENAC ประเทศฝรั่งเศส มีการวิจัยร่วมกันและแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงาน, U.S.Space Rocket Center สหรัฐอเมริกา, องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเซียแปซิฟิก (APSCO) ทั้งนี้ IAAI มี 2 โครงการเร่งด่วนที่เราได้ร่วมมือกับนานาชาติ คือ โครงการห้องแล็บอวกาศ เพื่อพัฒนาดาวเทียมตามมาตรฐานสากล Space Grade และการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กสู่อวกาศ เป้าหมายภายใน 3 ปี เพื่อให้สามารถสร้างและส่งดาวเทียมสู่วงโคจรต่ำ หรือ Low Earth Orbit (LEO) Satellites สู่อวกาศได้สำเร็จ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ส่วนความร่วมมือในประเทศ ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับภาคีอวกาศ Thai Space Consortium ซึ่งมีภารกิจในการส่งจรวดไปโคจรรอบดวงจันทร์ โดย IAAI จะฝึกเตรียมบุคลากรด้านอวกาศ นอกจากนี้ IAAI ยังมีการวิจัยและความร่วมมือกับหน่วยงานสื่อสารโทรคมนาคมระดับชาติ เช่น กสทช ไทยคม เอ็นที ในด้านเศรษฐกิจอวกาศ การผนึกกำลังกันของ 5 องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ ธุรกิจอวกาศ และอุตสาหกรรมอวกาศที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยต่อไป
Recent Comments