ตรวจก่อน พบไว รู้ทันภัยมะเร็งปอด แพทย์แนะวิธีคัดกรองมะเร็งปอด หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้น ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ

เดือนมะเร็งปอดโลก ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนที่ทั่วโลกร่วมตระหนักถึงภัยของมะเร็งปอด โรคร้ายที่จัดเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขอันดับต้น ๆ ของโลกและประเทศไทย เนื่องจากมะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการในระยะต้น จึงทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่ตรวจพบในระยะแพร่กระจายหรือลุกลามไปตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว สถิติเผยว่า ผู้ป่วยในระยะที่ หรือระยะสุดท้ายมีไม่ถึง 5% เท่านั้นที่มีอัตราการรอดชีวิตที่ ปี[1] ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการเข้ารับการรักษามะเร็งปอดอย่างทันท่วงที คณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย (TLCG) ภายใต้มะเร็งวิทยาสมาคม ร่วมกับ บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด ได้จัดงาน “ตรวจก่อน พบไว รู้ทันภัยมะเร็งปอด” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน และยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านที่มาร่วมกันเสวนา แบ่งปันมุมมอง และประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด โดยงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษามะเร็งปอดให้แก่ประชาชาชนทั่วไป เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะต้น มีส่วนช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาดีและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งปอดยังได้เรียนรู้แนวทางการดูแลตัวเอง ในช่วงโควิด-19 อีกด้วย

Lung And Me

ข้อมูลจาก Global cancer Observatory ขององค์การอนามัยโลก (WHO)[2] เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2563 โรคมะเร็งปอดมีอุบัติการณ์และอัตราการตายสูงสุดเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย โดบพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่สูงถึง 23,717 ราย หรือคิดเป็น 65 รายต่อวันโดยเฉลี่ย อีกทั้ง ประชาชนไทยอีกกว่า 20,395 ราย หรือคิดเป็น 56 รายต่อวันโดยเฉลี่ยเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงของโรคนี้ยังมีเเนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มนโยบาย ‘มะเร็งรักษาได้ทุกที่’ หรือ Cancer Anywhere ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เพื่อคลายความกังวลด้านระยะเวลาการรอคอยและอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยมะเร็ง แต่ความท้าทายหลักของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด คือ สัดส่วนการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะต้นยังคงน้อยอยู่ ดังนั้น ความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การคัดกรองผู้มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด ได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่ระยะต้นมากยิ่งขึ้น

Lung And Me

ระยะของมะเร็งปอดที่เข้ารับการรักษามีผลโดยตรงต่อโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย โดย พ.ท. ผศ. นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการคัดกรองมะเร็งปอดและการสังเกตอาการเบื้องต้นว่า “หากเจอมะเร็งปอดในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 5% เท่านั้น ระยะที่ 3 หรือระยะลุกลามเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 30% แต่ถ้าเราเจอมะเร็งปอดระยะ 1 หรือ 2 ก็คือระยะต้น ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี สูงเกือบ 60%[3] อย่างไรก็ตามประเทศไทยตรวจพบมะเร็งปอดระยะต้นเพียงแค่ 30% เท่านั้น ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พบผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นสูงถึง 52-54% เนื่องจากในสหรัฐอเมริกามีแนวปฏิบัติของ National Comprehensive Cancer Network (NCCN) [4]และในยุโรปเองมีแนวปฏิบัติของ European Society of Medical Oncology (ESMO)[5] ซึ่งแต่ละมาตรการล้วนแนะนำไปในทางเดียวกัน ว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (Low dose CT scan) ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีโอกาสที่จะตรวจพบมะเร็งปอดระยะต้นได้มากขึ้น”

ผู้ที่มีสุขภาพดีแต่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 – 80 ปี ผู้ที่สูบบุหรี่จัดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น สูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองต่อปี หรือเคยสูบบุหรี่นานกว่า 15 ปี ผู้ที่ประกอบอาชีพในสภาพแวดล้อมที่มีสารพิษ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมรถยนต์ โรงงานผลิตฉนวนกันความร้อน มีโอกาสที่จะสูดดมแร่ใยหินหรือสารแอสเบสตอส (asbestos) นิเกิล โครเมียม เข้าไปเป็นเวลานาน วินมอเตอร์ไซด์ พนักงานกวาดถนน พนักงานในศาลเจ้าซึ่งสูดดมควันธูปเป็นประจำ เป็นต้น ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือมะเร็งปอด ซึ่งอาจมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ที่ผิดปกติภายในร่างกายของแต่ละคนก็ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน ดังนั้น การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ลดปริมาณการสูบบุหรี่หรือเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบหรี่ การสวมใส่หน้ากากชนิดที่กันฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดลงได้

Lung And Me

พญ.ธนิศา ทองใบ สาขารังสิวินิจฉัยระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งปอด เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาจะร่วมกันวางแผนแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับระยะของโรค ขนาดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง และความพร้อมทางร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังการผ่าตัด และรังสีรักษา

Lung And Me

ด้านการรักษามะเร็งปอดด้วยวิธีการผ่าตัด นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า “หากแพทย์ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นผ่าตัดได้ เทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดใหญ่แบบเปิดช่องอก โดยแพทย์จะผ่าก้อนเนื้อออกไป ผ่าตัดปอดบางกลีบ หรือผ่าปอดออกทั้งข้าง วิธีนี้มีข้อจำกัดก็คือ แผลค่อนข้างใหญ่และผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นนาน ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งแผลมีขนาดเล็กและใช้เวลาพักฟื้นสั้น ทั้งนี้ การรักษามะเร็งปอดระยะต้นด้วยวิธีการผ่าตัดทั้งสองเทคนิคช่วยเพิ่มโอกาสหายขาดให้กับผู้ป่วยได้มาก”

ในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดควบคู่ไปด้วย โดย พ.ท. ผศ. นพ.ไนยรัฐ กล่าวเสริมว่า “การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะต้นมีทั้งให้ก่อนและหลังการผ่าตัด ดังนี้ การให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนขนาดค่อนข้างใหญ่ ยาเคมีบำบัดจะทำหน้าที่ช่วยลดขนาดก้อนก่อน เพื่อให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น ส่วนการให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด กลไกการทำงานของยาจะเข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งขนาดเล็กที่อาจหลุดเข้าสู่กระแสเลือด และลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ช่วยให้ผู้ป่วยคงระยะปลอดโรคไว้ได้นานที่สุด ระยะเวลาในการให้ยาเคมีบำบัดอยู่ที่ 4-6 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์”

Lung And Me

นอกจากนี้ รังสีรักษายังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษามะเร็งปอดระยะต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยผ่าตัดไม่ได้ ผศ.พญ.ดนิตา กานต์นฤนิมิต รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า “แพทย์จะใช้เครื่องฉายแสงส่งผ่านรังสีออกมา รังสีเป็นคลื่นพลังงานสูง แต่ไม่มีคลื่นความร้อน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวล รังสีสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในก้อนหรือเซลล์มะเร็งและตรงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ส่งผลให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวต่อได้และตายในที่สุด ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือรังสีจะพุ่งเป้าไปที่รอยโรคได้อย่างแม่นยำ เกิดผลข้างเคียงน้อย และใช้เวลารักษาไม่นาน โดยทั่วไปใช้แพทย์จะฉายรังสีประมาณ 3-10 ครั้ง ใน 1-2 สัปดาห์ ให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีมาก พบว่าในช่วง 5 ปี ผู้ป่วยกว่า 90% ไม่พบการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ”

มะเร็งปอดถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นมะเร็งปอดนั้น กว่าร้อยละ 70 มักจะตรวจพบในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายแล้ว[6] ดังนั้น การสร้างตระหนักและป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนผู้ที่มีแนวโน้มการเกิดมะเร็งปอดควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพราะการเข้าถึงการรักษาตั้งแต่ระยะต้นมีโอกาสสูงที่ผลลัพธ์การรักษาจะเป็นไปในทางที่น่าพึงพอใจ และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้

LungAndMe: เฟสบุค LungAndMe, ยูทูป LungAndMe, LINE Official @LungAndMe, เว็บไซต์ www.LungAndMe.com และคลับเฮาส์ @LungAndMe

กลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้ดูแล: พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องมะเร็งปอดได้ในเฟสบุคกลุ่ม ห้องนั่งเล่นพูดคุยเรื่องมะเร็งปอด (สำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลเท่านั้น)

มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง: เฟสบุค Thai Cancer Society, เว็ปไซต์ www.thaicancersocitey.com

มะเร็งสมาคมวิทยา: เว็บไซต์ http://www.thethaicancer.com/index.html

………………………………………..

 

Shukuya and Carbone. J Thorac Oncol 2016

3 Goldstraw, et al. J Thorac Oncol 2016

4 NCCN guideline version 7.2021., Lung cancer screening, search date 16 Nov 2021.

Leave a Reply