ตลอดระยะเวลามากกว่า 2 ปี ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอยู่ท่ามกลางความสนใจของผู้คนจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 และยารักษาโควิด-19 รวมถึงทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทำให้อาจลืมไปว่ายังมี ‘ไวรัสทางเดินหายใจ’ อีกตัวที่ควรเฝ้าระวังและให้ความสำคัญ เนื่องจากไวรัสนี้ไม่ได้หายไปไหนและพร้อมที่จะกลับมาระบาดอีกครั้ง นั่นก็คือ ‘ไข้หวัดใหญ่’
มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ จึงได้จัดเสวนา “ไขปัญหาไข้หวัดใหญ่ในยุคโควิด-19” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ในปี 2565 รวมถึงเชื้อไวรัสต่างๆ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงแพร่ระบาดในฤดูฝน ในเดือนพฤษภาคม ความสำคัญของการป้องกันไข้หวัดใหญ่ ความเสี่ยงของการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ความแตกต่างของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงการวิจัยใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้และสามารถป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมี รศ. นพ. ชิษณุ พันธุ์เจริญ อาจารย์พิเศษ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินรายการ
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกโดยรวมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวด ขณะที่ในปี พ.ศ. 2565 นี้ เริ่มมีรายงานจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปมีรายงานความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่สูงขึ้น รวมถึงในสหรัฐอเมริกา ที่พบการระบาดในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนมากกว่า 70% ในสหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะแล้ว ขณะที่มีรายงานการวิจัยจาก University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าฤดูไข้หวัดใหญ่ปี 2021-2022 มีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งอาจมีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการป่วยในฤดูกาลปีก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หากมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 20-50% จากปีก่อนๆ เนื่องจากในช่วงที่มีมาตรการป้องกันโควิด-19 ชาวอเมริกันจำนวนมหาศาลพลาดโอกาสที่จะสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ด้วยการติดเชื้อเองจากธรรมชาติหรือฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเมื่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ต่างๆ ถูกยกเลิก จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงกว่าปกติเพราะผู้คนห่างหายจากภูมิคุ้มกันมากว่า 2 ปีแล้ว และยังตรงกับฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ของประเทศในเขตอบอุ่นซีกโลกเหนืออีกด้วย ซึ่งจะกระทบต่อเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบลงมา ทำให้เสี่ยงที่จะติดเชื้อและมีอาการรุนแรงมากเป็นพิเศษ เพราะเด็กในกลุ่มนี้ยังไม่เคยได้สัมผัสเชื้อไข้หวัดใหญ่มาก่อน
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย จากรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 23 กุมภาพันธ์ 2565 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 660 ราย ซึ่งเป็นโรคที่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่ยังคงพบในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปีมากที่สุด ถึงแม้จะดูว่าตัวเลขผู้ป่วยยังไม่มากนัก แต่แพทย์ต่างก็มีความกังวลว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่กำลังเข้าสู่การระบาดในฤดูฝน ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีอากาศเย็นและชื้น ทำให้เชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้มากขึ้นและมีชีวิตอยู่นานขึ้น อาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้นหลังจากที่มีการเปิดประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังตรงกับช่วงเวลาที่โรงเรียนทั่วประเทศเปิดเทอมภาคการศึกษาใหม่ ทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อร่วมกันทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 ในเวลาเดียวกัน (หรือที่เรียกว่า Co-Infection หรือ Flurona) ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรงมากขึ้น
จากสถิติที่ผ่านมาเด็กจะมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่าผู้ใหญ่ได้ถึง 4 เท่า เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมถึงพฤติกรรมของเด็กโดยธรรมชาติที่มักขาดความระมัดระวัง ทั้งน้ำลาย น้ำมูก ไอจามรดกัน และไม่ชอบล้างมือ ยิ่งไปกว่านั้นในกลุ่มเด็กและทารกยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าการติดเชื้อโควิด-19 ขณะเดียวกัน ในกลุ่มสตรีมีครรภ์ เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีโอกาสต้องนอนในโรงพยาบาลมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อไข้หวัดใหญถึง 4 เท่า และหากเป็นไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรง สามารถส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการตั้งครรภ์ หรือเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก ฉะนั้นคุณแม่ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ จึงควรป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเร็วที่สุด เพื่อส่งต่อความคุ้มครองให้ทารกแรกเกิดได้ตั้งแต่วันแรกที่คลอด เพราะทารกจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้จนกว่าจะอายุครบ 6 เดือน แต่จะเป็นภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ส่งต่อถึงลูกให้ได้รับการปกป้องอาการรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่
ศ. นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้อำนวยการและรักษาการหัวหน้าฝ่ายวิจัยและบริการคลินิก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวเสริมในกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคอ้วน ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอด จะเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง โดยพบมากกว่าคนปกติถึง 100 เท่า ผู้ป่วยโรคหัวใจจะเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 50 เท่า และผู้ป่วยโรคเบาหวาน เสี่ยงมากกว่าคนปกติ 5-10 เท่า เป็นต้น เนื่องจากในผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้อาจจะมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแปรปรวน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีเท่ากับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง
ฉะนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในวงกว้างจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อร่วมกันในยุคโควิด-19 โดยไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ควรเข้ารับบริการฉีดทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นทางออกที่มีความคุ้มค่า โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้มีการยอมรับถึงประสิทธิภาพของวัคซีนจากทั่วโลกและมาตรฐานที่ใช้มาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยระบุถึงคุณประโยชน์และประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พบว่าสามารถลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดความถี่ในการมาพบแพทย์ ลดการแพร่เชื้อโรค รวมถึงลดการรักษาตัวในห้องฉุกเฉิน และผลโดยรวมยังพบว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์มากต่อคนทุกช่วงอายุ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวด้วย
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการวิจัยว่า “ปัจจุบันยังมีการวิจัยของประเทศบราซิลที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และอัตราความรุนแรงของโควิด-19 โดยเปรียบเทียบใน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระยะ 1-3 เดือนที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลปรากฎว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโควิด-19 จะช่วยลดอัตราการนอนในแผนกผู้ป่วยหนักได้ 7% ช่วยลดอัตราของผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 17% ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยต่างประเทศอีกหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา และบราซิล ที่ระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่งผลในเชิงบวกต่อการเจ็บป่วยของโควิด-19 สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 10% ด้วยเช่นกัน”
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มี 2 ชนิด คือ ชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งได้ผลที่ดีทั้ง 2 ชนิด อย่างไรก็ตามด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ จึงแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งจะครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้กว้างกว่าชนิด 3 สายพันธุ์ โดยวัคซีนจะมีการเปลี่ยนชนิดสายพันธุ์ย่อยไปทุกปีตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดเป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้พร้อมรับมือกับเชื้อในแต่ละปี ซึ่งสามารถเข้ารับฉีดวัคซีนได้ตามคลินิกเอกชน หรือโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ โดยจะเริ่มให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลปี 2565 ชนิด 4 สายพันธุ์ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม – ธันวาคม 2565 ขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ของภาครัฐบาล จะเริ่มให้บริการฉีดฟรีได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในระบบบัตรทอง ประมาณเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/ หรือทางทางเพจของมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่
Recent Comments