ปิดฉากฉลองกรุงฯ ครบรอบ 241 ปี กระแสดีเกินคาด ยอดผู้เข้าชมงานกว่า 4.6 แสนคน สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมและอื่นๆ กว่า 137 ล้านบาท ด้านวธ.มอบโล่ขอบคุณหน่วยงานร่วมจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ 30 กว่าหน่วยงาน จัดกิจกรรมให้ปชช.เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ พระบรมราชวงศ์จักรี-กรุงรัตนโกสินทร์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย สร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
วันที่ 25 เมษายน 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นประธานพิธีมอบโล่ขอบคุณหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และพิธีมอบรางวัลผู้ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมเดินชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ (Night Museum) โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายด้านวัฒนธรรม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 30 หน่วยงาน สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 30 หน่วยงาน ตลอดจนสื่อมวลชนที่ได้เผยแพร่การจัดงานผ่านช่องทางสื่อทุกแขนงอย่างกว้างขวาง ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานในทุกกิจกรรม เป็นจำนวน 466,145 คน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมนั่งรถ ขสมก. ทำบุญไหว้พระ 11 วัด เปิดแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ 10 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมระดับโลกที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเช่น โขน และ โนรา การแสดงดนตรีสากล ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีอีสาน หมอลำ ที่มีนักร้องรับเชิญมาขับกล่อมตลอดงาน เวทีเสวนาวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ เปิดพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ (Night Museum) สาธิตอาหารโบราณและอาหารชาววัง ในรูปแบบตลาดย้อนยุค การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด ผลิตภัณฑ์ Cultural Product of Thailand : CPOT / ของดี 50 เขต กทม. จุดถ่ายภาพย้อนยุคบริการประชาชน และอีกมากมาย เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับผู้ประกอบการอาหาร ผลิตภัณฑ์และการบริการทางวัฒนธรรม มากกว่า 600 ราย ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปิน นักแสดง นักดนตรี กว่า 1,200 ราย เปิดพื้นที่การเรียนรู้ และแสดงความสามารถให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่พัก อาหาร การท่องเที่ยวชุมชนและบริการอื่น ๆ ในพื้นที่จากการจัดงานรวมทั้งสิ้น 137,211,654 บาท และคาดว่าจะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ในช่วง 6 เดือนต่อไป จำนวน 686,158,270บาท ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้สู่ประชาชน ผ่านช่องทางสื่อในรูปแบบ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และระบบออนไลน์ มากกว่า 45,785,000 ครั้ง
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมจัดงานฯ โดยจัดพิธีมอบโล่เพื่อเป็นเกียรติและแสดงความขอบคุณให้แก่หน่วยงานที่ร่วมจัดงานฯ อาทิ 1.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร 2.วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร 3.สำนักพระราชวัง 4.กระทรวงกลาโหม 5.กรุงเทพมหานคร 6.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 7.กองบัญชาการกองทัพไทย 8.กองทัพบก 9.กองทัพเรือ 10.กองทัพอากาศ 11.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 12.กองบังคับการตำรวจทางหลวง 13.กรมประชาสัมพันธ์14.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 15.สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 16.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ 17.การไฟฟ้านครหลวง 18.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 19.การประปานครหลวง 20.กองบัญชาการตำรวจนครบาล 21.สำนักงานเขตพระนคร 22.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร 23.สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร 24.ศาลาเฉลิมกรุง 25.สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)26.กรมธนารักษ์ 27.กรมการค้าภายใน 28.กรมปศุสัตว์ 29.กรมประมง 30.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 31.เทศบาลเมืองไร่ชิง32.บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด 33.สมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2566 ณ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และวันที่ 21 เม.ย. – 7 พ.ค. 2566 ณ สวนสันติชัยปราการ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี รวมถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ที่ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน เป็นเวลา 241 ปี เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพระบรมราชวงศ์จักรี ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย การท่องเที่ยววัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนและประเทศ