เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี ของการรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ “ความงามของโอกาส” เพื่อบอกเล่ามุมมองการให้โอกาสผู้ก้าวพลาดในการกลับคืนสู่สังคม ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 22 – 26 ธันวาคม 2564
โอกาสเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เล็งเห็นว่า “โอกาส” คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่พ้นโทษและได้กลับคืนสู่สังคม เพื่อจะได้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ และดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาผู้พ้นโทษกระทำผิดซ้ำสูงมาก เพราะสังคมไทยมองข้ามไป จึงไม่มีการให้พื้นที่และโอกาส ในการประกอบอาชีพและเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้พ้นโทษ ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างเพียงพอ ทำให้ผู้พ้นโทษจำนวนมากไม่มีที่ไป ไม่ได้รับการยอมรับ จนต้องกลับสู่วงจรชีวิตเดิม และกระทำผิดซ้ำ จนต้องกลับสู่เรือนจำอีก การตระหนักถึงปัญหาและหาวิธีแก้ไขอย่างยั่งยืน คือเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรจะร่วมมือกัน เพราะการกระทำผิดซ้ำไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดความแออัดในเรือนจำเท่านั้น แต่การกระทำผิดซ้ำ ยังทำให้ประเทศไทยโดยส่วนรวมของเรา เสียโอกาสด้านทรัพยากรบุคคลที่จะได้พ้นโทษออกมาร่วมพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) หน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีส่วนสำคัญในการร่วมกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนผู้พ้นโทษในการกลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน นับเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ทั่วโลกยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ต้องขังหญิง โดยข้อกำหนดดังกล่าวได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553
นิทรรศการศิลปะภายใต้หัวข้อ “ความงามของโอกาส” คือส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหานี้สู่สาธารณชน โดยถ่ายทอดประสบการณ์ เรื่องราว และมุมมองของศิลปินและนักออกแบบเกี่ยวกับประชากรในรั้วเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองเกี่ยวกับคุณค่าของบุคคล ศักยภาพ อิสรภาพ ความเท่าเทียม และความสำคัญของการให้โอกาสผู้ก้าวพลาดในรูปแบบต่าง ๆ จากสังคม ที่จะช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างสง่างามอีกครั้ง
“โอกาส” ในมุมมองของศิลปิน
โอกาสที่งดงาม
นายนพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีเทล บิสซิเนส โซลูชั่น จำกัด ได้รับแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขัง มาจากการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (RoLD Programme) รุ่นที่ 1 จัดโดย TIJ นายนพพล ริเริ่มทำโครงการช่วยเหลือผู้ต้องขัง ตั้งแต่การฝึกอาชีพผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ โดยนำตัวผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่งออกมาช่วยทำงาน ในฐานะผู้คุมการผลิตในโรงงานเชื่อมโลหะ แบบเช้าไปเย็นกลับ การรับผู้ต้องขังที่เพิ่งพ้นโทษเข้าทำงานที่บริษัท รวมทั้งการตั้งกลุ่มงาน Call Center ให้ผู้ต้องขังเป็นผู้ให้บริการ โดยการโทรศัพท์ออกไปยังลูกค้า ปัญหาหนึ่งที่พบการที่เรือนจำไม่รู้ภูมิหลังของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นไปเพราะข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างกฎระเบียบและงบประมาณ เป็นสาเหตุสำคัญให้การพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขังไม่อาจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนอาจกล่าวได้ว่า กิจวัตรประจำวันของพวกเขาในเรือนจำ จึงอยู่ที่การเลือก “คือเลือกที่จะให้เวลาฆ่าเขา หรือเขาฆ่าเวลา” ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการถ่ายภาพ ภาพที่นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ มุ่งถ่ายทอดให้เห็นว่าเวลาของคนหลังกำแพงแตกต่างจากคนข้างนอกด้วยเหตุนี้เอง “ผมหวังว่าภาพเหล่านี้จะทำให้เห็นว่า ความงามของโอกาส อยู่ที่การบริหารเวลา การมีความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ความอดทน และการได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น”
Call Me by My Name
ครั้งแรกที่เข้าไปในเรือนจำ นางสาวจาริณี เมธีกุล “ลุงเปิ้ล” รู้สึกกลัว เพราะเธอเคยเห็นผู้ต้องขังแต่ในสารคดี ที่ต้องทำการ “เบลอ” หน้าผู้ต้องขังเพื่อปิดบังตัวตน เมื่อนำเนื้อหาเหล่านั้นออกเผยแพร่สู่สาธารณะ แต่ในความเป็นจริง เธอพบว่ามีผู้ต้องขังบางคนไม่อยากเบลอหน้า เพราะพวกเขารู้สึกว่ามีตัวตน และจะมีตัวตนอย่างมีคุณค่าได้ เธอจึงเริ่มต้นทำกิจกรรม Call me by my name เพื่อสื่อสารกับผู้ต้องขัง ว่าอย่าให้คนอื่นเรียกคุณด้วยชื่ออื่น เธอจัดกิจกรรมวาดภาพให้กับผู้ต้องขัง ที่ได้รับคัดเลือกมาจากเรือนจำราชบุรี ใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่เป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปเร็วสำหรับผู้ต้องขัง ด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ การได้รู้จักกับคนอื่นจากแดนอื่น ผ่านการวาดภาพไม่เหมือน การเลือกใช้สีและกระดาษวาดภาพที่ดีที่สุดอย่างเต็มที่ โดยไม่มีกรอบใด ๆ มาจำกัดจินตนาการภาพวาดไม่เหมือนของผู้ต้องขังแต่ละคนมีความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ และเปี่ยมด้วยความหวังและความฝัน หลายภาพเผยให้เห็นความต้องการในใจอย่างการใส่ชุดเสื้อกาวน์ เพราะผู้ต้องขังผู้นั้นมีฝันอยากเป็นหมอ การวาดให้ผมมีสีต่างจากเดิม เพราะอยู่ในเรือนจำไม่สามารถย้อมผมได้ และบางคนอาจมีความสุขเพิ่มขึ้นในขณะนั้นเพียงเพราะได้จับดินสอเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี “เราคิดว่า คงเป็นเรื่องที่สนุกดี หากผู้ต้องขังออกมาแล้วได้มาเดินดูภาพตัวเองร่วมกับคนอื่น ๆ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาคือคนในภาพ ไม่ต้องมีใครกลัวใครอีกต่อไป เพราะอย่างไรเขาก็ต้องออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติแบบทุกคนเหมือนกัน”
Hourglass
นายนรรัตน์ ถวิลอนันต์ อนันต์ หรือ คุณแอ๊บ ศิลปิน Street Art ภายใต้นามปากกา Abi ศิลปินแนวสตรีทอาร์ทผู้รังสรรค์งานทั้งบนพื้นผนัง ควบคู่กับบนผืนผ้าใบ ตลอดมาเขาสนใจประเด็นทางสังคม และได้ทำงานสื่อสารประเด็นปัญหาหลากหลาย อย่างเด็กโดนทำร้ายและการค้ามนุษย์ โดยเริ่มจากการวาดการ์ตูนในที่สาธารณะ จนต่อมาก็ได้ขัดเกลาความคิดให้แหลมคมและตกตะกอนยิ่งขึ้น และค้นตนเองพบว่าสามารถสร้างสรรค์สังคมได้ด้วยศิลปะ “วิธีการทำงานของผมจึงไม่ได้เป็นแนวป๊อปปูล่าร์เหมือนคนอื่น แต่ยึดหลักความเป็นจริง เหมือนตัวละครตัวหนึ่งที่เล่าเรื่องว่าในวันนั้นได้พบเจอความยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมอย่างไรบ้าง” คุณแอ๊บ เล่าถึงผลงานของตน
ในคราวนี้คุณแอ๊บยินดีที่จะส่งผลงานเข้าร่วมแสดงภายในงาน “ความงามของโอกาส” เป็นภาพนาฬิกาทราย (Hourglass) ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจจากจดหมายหลายฉบับของผู้ต้องขังที่เดินทางมาถึงมือคุณแอ๊บ จดหมายเหล่านั้นได้ถูกเรียบเรียง ตีความ พลิกความคิด กระทั่งมองเห็นถึงความหวังหลังเส้นสายลายมือของผู้ต้องขัง “รอวันสู่อิสรภาพ เนื้องานมาจากตรงนั้น มาจากทั้งที่เคยได้เข้าไปสังเกตบรรยากาศในเรือนจำ และการอ่านจดหมายของผู้ต้องขัง กระทั่งเกิดแรงบันดาลใจ ความรักและเวลาที่เหลืออยู่ คืออารมณ์หลักของภาพ” เจ้าของภาพสีสเปรย์ ภายใต้หมวกและแมสก์เล่าให้เราฟังด้วยเสียงที่มีความหวัง
นอกจากสามมุมมองของศิลปินสามท่านนี้ ยังมีผลงานศิลปะที่น่าสนใจอีกมากมายรอท่านอยู่ งานนิทรรศการ “ความงามของโอกาส” ครั้งนี้ได้รวบรวมผลงานศิลปะและงานออกแบบ 6 แขนง ที่สะท้อนถึงมุมมองและแรงบันดาลใจของ 7 ศิลปิน ประกอบด้วย
• ผลงานภาพถ่าย “โอกาสที่งดงาม” โดย นายนพพล ชูกลิ่น
• ผลงานภาพวาดสีอะคริลิก “Call Me by My Name” โดย นางสาวจาริณี เมธีกุล
• ผลงานวาดภาพประกอบ “โอบกอด โอกาส” โดย นายอนุชิต คำน้อย เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค “คิ้วต่ำ”
• ผลงานสตรีทอาร์ท “Hourglass” โดย “Abi” หรือ นายนรรัตน์ ถวิลอนันต์
• ผลงาน “โอกาสจากงานช่าง” โดยผู้ต้องขังในโครงการช่างสิบหมู่เรือนจำพิเศษธนบุรี ที่ฝึกสอนโดยอาจารย์พิรุณ ศรีเอี่ยมสะอาด ครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2556
• ผลงานภาพถ่าย “บทพิสูจน์ชั่วชีวิตของอดีตนักโทษสู่สังคม” โดย นายสมศักดิ์ เนตรทอง ช่างภาพสารคดีประจำสำนักข่าว PPTV
• ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรม “โอกาสสถาน” โดย นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร. ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
งานนิทรรศการ “ความงามของโอกาส” เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 22 – 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแต่ละวันจะมีการหมุนเวียนของศิลปินที่มาร่วมพูดคุย เกี่ยวกับแรงบันดาลในในการสร้างงานศิลปะ และมุมมองเกี่ยวกับการให้โอกาส รวมถึงกิจกรรมเวิร์คช้อป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมแต่ละวันได้ที่เว็บไซต์: https://www.tijthailand.org/th/highlight/detail/bangkok-rules-11-anniversary
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ตามอัธยาศัย และสามารถสำรองที่นั่งสำหรับบริการนำชมนิทรรศการ โดยมีเจ้าหน้าที่บรรยาย (Guided Tour) และร่วมกิจกรรมเสวนาต่าง ๆ โดยทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โปรดกรอกแบบฟอร์มที่ : https://forms.gle/fa5PorAEtPuFFJ7z9
Recent Comments