ปัญหาความรุนแรงและการรังแกยังคงเป็นปัญหาที่พบในสถานศึกษาทั่วโลกและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น หลายภาคส่วนจึงหันมาให้ความสำคัญและมุ่งบรรเทาปัญหานี้ “โครงการฮีโร่เทควันโดเพื่อยุติการรังแก Hero Taekwondo Fair Play and Stop Bully” ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัทซัมซุง ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มูลนิธิรักษ์ไทย คณะผู้ฝึกสอนกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านองค์กร Global Civic Sharing จากสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งโครงการมีระยะเวลาในการดำเนินการ 2 ปี (ตั้งแต่เมษายน 2564 – มีนาคม 2566)
ทางมูลนิธิรักษ์ไทยได้จัดให้มีพิธีปิดโครงการโดยการจัดงานฮีโร่เทควันโดยุติการรังแกในระหว่างวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2566 ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งงานฮีโร่เทควันโดยุติการรังแกนี้ ประกอบด้วย Taekwondo Youth Camp ในวันที่ 25 มีนาคม 2566 และมีเวทีเสวนาเรื่องการยุติการรังแกในโรงเรียนร่วมกับครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ และ Closing Ceremony ในวันที่ 26 มีนาคม 2566 การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดการส่งเสริมพัฒนาการเยาวชนอย่างรอบด้านและสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬาเทควันโด รวมทั้งสรุปผลการดำเนินงานของโครงการ ฯ นอกเหนือจากค่ายกีฬาเทควันโด โครงการ ‘ฮีโร่เทควันโดเพื่อยุติการรังแก’ ยังคงมีการอบรมเรื่องการยุติการรังแกให้กับครูและนักเรียนใน 25 โรงเรียนนำร่องภายใต้สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. “เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการรังแกกันในโรงเรียนยังปรากฏให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่โรงเรียนต้นแบบของเราได้เข้าร่วมโครงการนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่านักเรียนของเรามีความเข้าใจคำว่า ‘bully’ มากขึ้น และมีความตระหนักเรื่องการเคารพคนอื่นมากขึ้นเช่นกัน” กล่าวโดย ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการแนะแนว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ดร. ชัชชัย เช หรือ โค้ชเช หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย กล่าวว่า “กีฬาเทควันโด ไม่เพียงแต่สอนผู้เล่นให้รู้จักกฎกติกาและทักษะของเทควันโดเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกการฝึกฝนให้มีระเบียบวินัย มีน้ำใจนักกีฬา ทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยมีครูเป็นผู้ที่ช่วยดูแลส่งเสริมแนะนำเด็กๆเหล่านี้ โครงการนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้มีโอกาสผสมผสานศาสตร์ของเทควันโดเข้ากับหลักสูตรการยุติการรังแกซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเยาวชน เพื่อปลูกฝังการรู้จักเคารพซึ่งกันและกันควบคู่ไปกับการใช้ทักษะกีฬาเทควันโดในเชิงบวก และเด็กๆเหล่านี้สามารถต่อยอดไปเป็นนักกีฬาทีมชาติได้อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการติดตามผลว่าหลังจากที่ได้ฝึกกีฬาเทควันโดไป นักเรียนเหล่านี้จะมีความเข้าใจในเรื่องของวินัยมากขึ้น มีความเคารพกันมากขึ้น รวมทั้งเรื่องการความรุนแรงที่ลดลงอีกด้วย ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ใช่เฉพาะกีฬาเทควันโดเท่านั้น กีฬาอื่นๆ ก็สร้างให้เด็กมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจนักกีฬาด้วยเช่นกัน”
ครูสุพจน์ วรรณเวช จากโรงเรียนบ้านโนนแดง ได้กล่าวในเวทีเสวนาว่า ครั้งแรกที่ได้ยินผมก็แอบสงสัยว่าว่าฮีโร่เทควันโดยุติการรังแกนั้นจะสามารถยุติได้อย่างไร เมื่อโรงเรียนบ้านโนนแดงได้เข้าร่วมโครงการฮีโร่ฯ เป็นฮีโร่ภายในโรงเรียนสามารถที่จะเป็นต้นแบบให้กับเพื่อนๆที่อยู่ในโรงเรียนของเรา สร้างฮีโร่ที่สามารถช่วยเพื่อนหรือช่วยดูแลเพื่อน ไม่ทำร้ายเพื่อน ไม่ล้อเลียน หรือว่าบูลลี่เพื่อน ในด้านการเปลี่ยนแปลง ผมได้รับความรู้จากมูลนิธิรักษ์ไทย ถึง level การล้อแกล้งรังแกกัน การด่าทอ หรือว่าการทำร้าย มันเริ่มต้นจากสาเหตุเล็กๆ ซึ่งแต่ก่อนที่ผมในฐานะครูฝ่ายปกครองนักเรียนเราจะใช้การลงโทษนักเรียนเป็นหลัก นักเรียนใช้ความรุนแรง เราก็มีการหยุดความรุนแรงไว้ ณ ตรงนั้น มันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เมื่อเราได้เข้าร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทยเราได้ความรู้ว่าเด็กทุกคนมาจากต่างครอบครัว ซึ่งเด็กแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน เราใช้วิธีการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งมันสามารถพัฒนาผมและเปลี่ยนทัศนคติผมไปได้เยอะมาก เราปรับเปลี่ยนวิธีการล้อแกล้งรังแกในโรงเรียนให้ลดน้อยลง โดยเราใช้เหตุผลในการคุยและฟังนักเรียนให้มากขึ้น และไม่ใช้ความรุนแรง การด่าทอ หรือการบูลลี่เด็ก เราให้เด็กมามีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น สร้างทัศนคติให้เด็ก เราสร้างฮีโร่ภายในโรงเรียน ให้เด็กเขาได้มีตัวตนเกิดขึ้น เขาก็จะไม่ทำร้ายและแกล้งคนอื่น ตอนนี้การรังแกในโรงเรียนลดน้อยลง อยากฝากถึงผู้ปกครอง ครูนักเรียนและบุคคลทั่วไปในการยุติการรังแกว่า การล้อแกล้งรังแกกันมันเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ซึ่งมันสามารถกำจัดได้ด้วยการลดพฤติกรรม ไม่ให้เกิดการทำร้ายร่างกายขึ้น ไม่ล้อ ไม่บูลลี่ ไม่ทำร้ายจิตใจของคนอื่น ก็จะไม่เกิดสถานการณ์ที่รุนแรงภายในโรงเรียน
นาย ซองฮยอน ยู ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมซุง ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีปิดโครงการฮีโร่เทควันโดเพื่อยุติการรังแก หรือ Taekwondo Heroes Join to Stop Bullying ต้องขอขอบคุณคณะครูและนักเรียน จาก 25 โรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์อันล้ำค่ารวมไปถึงผลของการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนกลไกการยุติการรังแกให้เป็นที่ตระหนักในสังคมโรงเรียนเป็นรูปธรรมมากขึ้น และขอแสดงความยินดีกับนักกีฬาเทควันโดทุกท่านที่ได้รับทุนการศึกษา ทุกคนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ขอให้ตั้งใจสั่งสมประสบการณ์ ตั้งใจเรียน และทำตามความฝันจนสำเร็จ โครงการฮีโร่เทควันโดเพื่อยุติการรังแก นับเป็นโครงการใหญ่ที่ทางบริษัทซัมซุง ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ตั้งใจทำเพื่อคืนสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้เราจะริเริ่มโครงการท่ามกลางวิกฤติการณ์โควิด-19 ในช่วงเวลาที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักและหลายหน่วยงานขาดแคลนทรัพยากรที่ใช้ในการดูแลผู้ติดเชื้อ เราจึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเพื่อเข้าช่วยเหลือโดยการสนุบสนุนเครื่องวัดอุณหภูมิและและเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจำนวน 2,650 ชุดให้กับผู้ที่ต้องการจริงๆ ทั่วประเทศ
ไม่เพียงเท่านี้ โควิด-19 ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับเราในการรวมตัวเหล่าเยาวชนที่เต็มไปด้วยความฝันหลายร้อยคนมาร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนเทควันโดเพื่อยุติการรังแก อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิรักษ์ไทยและทีมผู้ฝึกสอนกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย พันธมิตรหลักที่ได้ร่วมฝ่าฟันอุปสรรค ทั้งต้องจัดค่ายในรูปแบบออนไลน์และเดินทางไปจัดค่ายในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคในประเทศจนเกิดเป็นความสำเร็จ โดยจัดไปแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้งในระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา และมีเด็กๆ เยาวชนผ่านการเข้าร่วมโครงการกับเราทั้งสิ้น 1,595 คน
สุดท้ายนี้ ต้องขอบคุณองค์การ Global Civic Sharing (GCS) จากสาธารณรัฐเกาหลีที่คอยให้การสนับสนุนโครงการตลอดมาและให้เกียรติเดินทางมาร่วมงานกับเราในวันนี้ รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เล็งเห็นถึงความตั้งใจและเปิดโอกาสให้โครงการของเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหยุดความรุนแรงในโรงเรียนและมีส่วนในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืนถึงแม้โครงการจะจบลงแล้ว แต่เราจะยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์โครงการดีๆ แบบนี้ต่อไปเพื่อสังคมที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ
คุณ ฮยอนจู โช กรรมการบริหารของ Global Civic Sharing (Mr. Hyunju Cho, Executive Director of Global Civic Sharing) ซึ่งเดินทางมาจากประเทศเกาหลีได้กล่าวขอบคุณบริษัทซัมซุงประกันชีวิต, มูลนิธิรักษ์ไทย,สมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ซึ่งนำโดยโค้ชชัชชัย เชและโค้ชทุกๆ ท่านในการสนับสนุนและทุ่มเททำงานเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะกีฬาและการอบรมที่จำเป็นต่อการป้องกันความรุนแรงและยุติการรังแกที่จะทำให้โรงเรียนของเราเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยในการเรียนรู้และพัฒนาศักยาภาพอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าเด็กๆ ที่ได้รับการฝึกฝนเทควันโด นอกจากได้ทักษะการป้องกันตัวแล้วยังได้รับการฝึกวินัย การเคารพคนอื่น ควบคุมอารมณ์ตนเองและตัดสินใจอย่างมีสติและเหตุผล อีกทั้งยังได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความมีเมตตา และการสื่อสารเพื่อสร้างวัฒนธรรมโรงเรียนในเชิงบวก ผมขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนในการฝึกฝนกีฬาเทควันโดและขอสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนต่อไปในอนาคต เรามาร่วมกันสร้างสังคมที่มีแต่ความปรองดองและปลอดภัยยิ่งขึ้นกันครับ
มูลนิธิรักษ์ไทยในฐานะตัวแทนของผู้ปฏิบัติงาน ขอขอบคุณบริษัท ซัมซุงประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยุติการรังแกและเป็นผู้สนับสนุนหลักในการดำเนินโครงการฮีโร่เทควันโดเพื่อสร้างฮีโร่ในการยุติการรังแกในโรงเรียน และขอขอบคุณคณะผู้ฝึกสอนกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย นำโดยโค้ชเช ที่ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การประยุกต์กีฬาเทควันโดเข้ากับหลักสูตรการยุติการรังแกเพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงบวกและนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมในโรงเรียนที่ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อีกต่อไป รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่ให้ความร่วมมือกับเราเป็นอย่างดีในการเดินหน้าขับเคลื่อนสังคมในโรงเรียนที่ปลอดการรังแกและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการสนุนจากทุกภาคส่วนในอนาคตต่อไป
จากผลการดำเนินโครงการฮีโรเทควันโดเพื่อยุติการรังแกและผลการทำงานที่ผ่านมา ค่ายเยาวชนครั้งนี้จัดขึ้นใน 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ครั้ง มีนักเรียนและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมค่ายจำนวน 1,595 คน จาก 25 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จัดตั้งชมรมเทควันโดมีนักเรียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกในชมรมจำนวน 602 คน นักเรียนที่เข้าสอบเลื่อนสายจากสายสีขาวเป็นสายสีเหลืองจำนวน 505 คน ทุกคนผ่านการสอบสายโดยดร. ชัชชัย เช หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย มีการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่เยาวชน มีนักเรียนได้รับมอบทุน 397 คน และมีนักกีฬาเทควันโดที่ได้รับทุน 10 คน มีนักเรียนที่ผ่านการอบรมกิจกรรมรณรงค์ยุติการรังแกจำนวน 4,854 คน พฤติกรรมการรังแกของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการลดลง 80% โรงเรียนนำร่องทั้ง 25 โรงเรียน มีโครงงานยุติการรังแกที่เกิดจากการมีส่วนร่วมสร้างการรับรู้และแนวร่วมในการยุติการรังแก