บำรุงราษฎร์ พัฒนาต่อยอดศูนย์จักษุ เปิดตัว ‘ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา’ Cornea Transplant Center แห่งแรกที่มีศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาให้บริการครอบคลุมทุกการรักษา

Bumrungrad

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรทั่วโลกมีปัญหาทางสายตาประมาณ 2.2 พันล้านคน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือจากโรคต้อกระจก ที่ไม่ได้รับการแก้ไข รักษา ทั้งนี้ จากผลสำรวจ The first rapid assessment of avoidable blindness (RAAB) ในประเทศไทย ระบุว่าตาบอดสามารถป้องกันได้กว่า 92% และสามารถรักษาได้กว่า 76.8% โดยสาเหตุของสภาวะตาบอดเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ โรคต้อกระจก, โรคต้อหิน และโรคกระจกตา ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียการมองเห็น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีผู้คนทั่วโลกประมาณ 115 ล้านคน ที่จะสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด และด้วยความมุ่งมั่นของบำรุงราษฎร์ที่ได้ยกระดับการรักษาสู่ขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) เพื่อให้การบริบาลดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ล่าสุดบำรุงราษฎร์ ได้จัดงานแถลงข่าวเปิด ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาหรือ ‘Cornea Transplant Center’ นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาที่ให้บริการครอบคลุมในทุกการรักษาที่เกี่ยวกับกระจกตา โดยได้พัฒนาต่อยอดจาก ‘ศูนย์จักษุ’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของบำรุงราษฎร์ที่มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งในการบริบาลทางการแพทย์โดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกด้านเกี่ยวกับดวงตาและทีมสหสาขาวิชาชีพ ผนวกกับการใช้นวัตกรรมขั้นสูงสำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา ภายในงานได้รับเกียรติจาก ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ CEO โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเปิดงานแสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงทีมจักษุแพทย์ ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วย พญ. เมทินี ศิริมหาราช หัวหน้าศูนย์จักษุ, นพ. ธีรวีร์ หงษ์หยก แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตา และรศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ประธานชมรมกระจกตาและการแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทยและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตา ร่วมเสวนาถึงศักยภาพและความพร้อมในการดูแลรักษาโรคกระจกตา โดยมีคุณมยุรา เศวตศิลา เป็นผู้ดำเนินรายการ

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

พญ. เมทินี ศิริมหาราช – นพ. ธีรวีร์ หงษ์หยก – รศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

วิธีการปลูกถ่ายกระจกตา จะเป็นการผ่าตัดเอากระจกตาของผู้ป่วยที่ขุ่นหรือเป็นโรคออก แล้วปลูกถ่ายด้วยกระจกตาของผู้บริจาค ข้อดีของการรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตา คือจะช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาบางหรือทะลุ และช่วยควบคุมการติดเชื้อที่กระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งการรักษาจะใช้กล้องผ่าตัดรุ่นใหม่ที่มีการผนวกเทคนิคที่ช่วยในการตรวจชั้นต่างๆ ของกระจกตาในระหว่างผ่าตัด (Microscope-integrated intraoperative optical coherence tomography) ช่วยให้การผ่าตัดกระจกตามีความแม่นยำมากขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

1. การปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้น (Penetrating keratoplasty) กรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาขุ่นทุกชั้น (ซึ่งกระจกตามีทั้งหมด 5 ชั้นย่อย หรีอ 3 ชั้นหลัก คือ ชั้นผิวหรือชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นหรือชั้นเยื่อบุ) หรือทำงานได้ไม่ดี การผ่าตัดวิธีนี้ จะผ่าตัดโดยเอากระจกตาทุกชั้นที่มีพยาธิสภาพออกและนำกระจกตาที่มีความหนาแบบเดียวกันและมีทุกชั้นใส่เข้าไปแทนที่ และ

2. การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้น (Lamellar keratoplasty) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาเสียหายเฉพาะบางส่วน ก็จะทำการปลูกถ่ายเฉพาะบางชั้น ได้แก่ การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นบน (Anterior lamellar keratoplasty) ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องตัดกระจกตาชั้นเยื่อบุโพรงหรือกระจกตาชั้นในสุดทิ้งไป จึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่ร่างกายผู้ป่วยจะปฏิเสธกระจกตาที่เกิดจากการปลูกถ่ายได้ รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ด้วย การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นอีกชนิดหนึ่งคือ การปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้นเยื่อบุโพรงกระจกตาหรือกระจกตาชั้นใน (Endothelial keratoplasty) เป็นการนำเยื่อบุโพรงกระจกตาชั้นในที่มีพยาธิสภาพออก และทดแทนด้วยเยื่อบุโพรงกระจกตาจากดวงตาบริจาคที่นำมาปลูกถ่าย ซึ่งกระจกตาชั้นนี้มีความบางมาก ประมาณ 10-15 ไมครอน จึงเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนมาก นอกจากนี้การผ่าตัดชนิดนี้ยังมีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็กเพียง 3-5 มิลลิเมตร ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มาก ที่สำคัญ มีการฟื้นตัวของสายตาที่เร็วมากนับเป็นสัปดาห์ เร็วกว่าการปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้นอย่างมาก

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการโรคกระจกตาที่ซับซ้อนมากขึ้น ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการหลากหลายสาขาที่พร้อมให้การบริบาลดูแลรักษาโรคที่ซับซ้อน และมีเทคนิคการรักษาที่หลากหลาย โดยบางครั้งแพทย์อาจต้องใช้วิธีอื่นรักษาร่วมด้วย เช่น Phototherapeutic Keratectomy (PTK) คือการรักษาโรคของกระจกตาด้วยเอ็กไซเมอเลเซอร์, การฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ เพื่อเสริมความแข็งแรงเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตา และการผ่าตัดใส่วงแหวน เพื่อปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ด้วยสถานการณ์การจัดหาและบริการดวงตาของศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย พบว่าผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายกระจกตาจะต้องใช้เวลารอคิวบริจาคประมาณ 3-5 ปี ปัจจุบันยังมีผู้รอคอยดวงตามากกว่า 17,000 คน ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา อาจทำให้อาการผู้ป่วยจากที่เป็นน้อยๆ เริ่มเป็นมากขึ้น ส่งผลให้การรักษายากขึ้นและมีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น กรณีที่เบาหวานขึ้นตาก็ไม่สามารถยิงเลเซอร์รักษาได้ ทำให้ภาวะของโรคแย่ลง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่มีศักยภาพและมีแนวทางในการดำเนินการจัดหาดวงตาบริจาคเพื่อนำไปผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้แก่ผู้ป่วยได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นับเป็นการแบ่งเบาภาระจากภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาที่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตาให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพในเวลาที่เหมาะสมให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพการมองเห็นและคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา ควรเข้ารับบริการตรวจ screening สุขภาพตาเป็นประจำทุกปี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 18 อาคาร A (คลินิก) หรือโทร. 0-2 011 3886 หรือโทร. 1378

You may also like

Leave a Reply