“เชฟลี พิจิกา” หรือ นางสาวพิจิกา โรจน์ศตพงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท คอนเซพท เคส จำกัด, เชฟ นักออกแบบอาหาร เจ้าของแบรนด์ “Chef LeePijika” ประธานชมรมสื่ออาหาร ผู้คร่ำหวอดในวงการ “อาหาร” มากว่า 20 ปี ทั้งจากการเป็นผู้บริโภค และเป็นผู้ออกแบบเมนูสินค้าอาหารให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง King Power และรัฐวิสาหกิจอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปโรงแรม และร้านอาหารชั้นนำในประเทศไทย เล่าว่า การใช้ชีวิตบนโลกใบนี้เราทุกคนจะต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บทั้งเกิดขึ้นเองจากอายุไข และเกิดจากโรคระบาด อย่างเช่นโรคโควิด-19 และสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเลือกทำได้เพื่อตัวเราเองที่จะทำให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข โดยการออกแบบอาหารให้กลายเป็น “วัคซีนอาหาร” ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และนำเสนอเมนูอาหารที่พบเห็นหลากหลายในชีวิตประจำวัน มาให้ผู้ทานได้รู้จักและสัมผัสกับประสบการณ์การทานอาหารที่ทำให้เกิดเป็นวัคซีนแบบที่ทุกคนเลือกได้ในงานเปิดโต๊ะ “วัคซีนอาหาร” จุดแรงบันดาลให้ “กินอาหารให้เป็นวัคซีน”
“เริ่มต้นช่วงโควิด เรารู้สึกว่า มีการแสวงหาให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี ในช่วงที่มีเชื้อไวรัสระบาด จริงๆ แล้วในการที่เรามีอาหารอยู่ในบ้าน เปิดตู้กับข้าวมา เปิดตู้เย็นมา ทุกอย่างเป็นยาหมด เรารู้อยู่แล้วว่าอาหารเป็นยา โดยได้รับการสอนมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแล้วว่า อะไรคืออาหารเป็นยา แต่เราก็ลืมนึกไปว่าคนไทยเองมีอาหารที่มีอยู่แล้วหลังครัวนั้นก็เป็นยา เราก็เลยคิดว่า นั่นแหละคือวัคซีน ที่เราไม่ต้องรอยาที่ฉีด เราก็สามารถได้รับวัคซีนที่มาจากอาหาร และ กินได้ทันที” เชฟลี พิจิกา เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
แนวคิด “วัคซีนอาหาร” โดยเชฟลี พิจิกา ยังผสมผสานกับศาสตร์การแพทย์แผนจีนและไทย เข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยเชฟลีเล่าว่า ประวัติศาสตร์การกินของมนุษย์ย้อนไปเป็นพันกว่าปีจะมีเรื่องของพลังชิ หรือ การกินที่ปรับสมดุลธาตุในร่างกาย เช่น ธาตุร้อน และ ธาตุเย็น คือ พลังหยินและหยาง โดยเป็นหลักการอย่างหนึ่งในการนำมาปรับสมดุลร่างกาย
เชฟลี พิจิกา วางตัวเองเป็น “นักเล่านิทานอาหาร” ที่จะบอกเรื่องราวของที่มาของพืชผักที่นำมาขึ้นโต๊ะอาหาร หรือ นำมาปรุงเป็นอาหารในเมนูต่างๆ โดยใช้ประสบการณ์ความชอบตั้งแต่เด็ก และ บวกกับประสบการณ์ที่เคยอาศัยอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่เด็ก นำมาสู่เส้นทางการเป็น “นักเล่านิทานอาหาร”
“เราโดนฝึกการกินมาตั้งแต่เล็กๆ และ ใน 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราเริ่มต้นจากเด็กที่โตในต่างประเทศ อยู่ที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และ อยู่ที่อเมริกา ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ อยู่ที่นั่นก็มีการแลกเปลี่ยน สถานการณ์ที่ต่างประเทศกับในประเทศไทยเป็นอย่างไร พอกลับมาก็ได้รับเกียรติจากมูลนิธิคิง เพาเวอร์ ให้โอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิด และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันทางด้านอาหาร เราถามว่า เชฟลีเก่งไหม เชฟลีอาจจะมีชั่วโมงบินที่อาจจะต่างกับคนที่อยู่ในเมืองไทย เขาเรียกว่า เอาท์ไซด์ อิน (outside in) คือ คนนอกมองเข้ามา เราเห็นอะไรมันก็จะว๊าว ดูแปลก ดูดี ดูเท่ มุมเหล่านี้ มันก็จะสร้างให้เกิดการทำงานในเมืองไทยในสายอาหาร และมีโอกาสได้ทำงานหลายๆ กระทรวง ตั้งแต่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร เช่น การออกแบบเส้นทางข้าว เส้นทางสัปปะรด และ เส้นทางเกลือ” เพื่อหวังจะเชื่อมโยงสินค้า วัตถุดิบไทยให้ออกไปสู่ตลาดสากล โดยแนวคิดว่าประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” วัตถุดิบไทยที่มีอยู่หลากหลายกินไม่มีวันหมด สามารถจะเป็นสินค้าที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อให้สมกับเทรนของปัจจุบัน ในยุคอาหารธรรมชาติร่อยหรอ และไม่เพียงพอสำหรับประชาชนในโลกใบนี้ อีกทางหนึ่งคือการได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภายใต้ กลุ่ม “อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต” ที่จะมีโอกาสได้เป็นกระบอกเสียงในการออกแบบอาหารจากวัตถุดิบไทย นำมาแปรรูปเป็นเมนูท้องถิ่นของทั่วโลก ภายใต้คอนเซ็ปท์ “cross-cultural” เพราะการที่เราจะเรียนรู้ ในการนำวัตถุดิบต่างถิ่นมาแปรรูปเป็นอาหารถิ่นจะต้องใช้หลักการ และการเล่าเรื่องที่มาของสินค้าเหล่านั้นว่ามีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างไร จึงเป็นที่มาของเทรนอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า “ traceability” ที่เรียกว่า “ย้อนรอยอาหาร”
ปัจจุบัน เชฟลีมีคอร์สเปิดสอนทำอาหาร โดยคอร์สที่โดดเด่น ได้แก่ คอร์สดีไอวาย (DIY) และ คอร์ส “storytelling” สำหรับผู้ประกอบการ และนิสิตนักศึกษามหาลัยในกลุ่มนวัตกรรมอาหาร ที่ทางเชฟลี ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันชั้นนำระดับโลกอย่าง “Le Cordon Bleu” มหาวิทยาลัยหอการค้า กลุ่มเกษตรกรจากพัฒนาชุมชนของแต่ละจังหวัด รวมถึงจะมีคอร์สที่จะเปิดเร็วๆ นี้ร่วมกับสถาบันอาหารแห่งประเทศไทย ส่วนคอร์สการศึกษาสำหรับนักท่องเที่ยวก็มี อย่างเช่นการเดินทางไปเรียนรู้ประสบการณ์อาหารกับกลุ่มชาวบ้านเกษตรกร และจับปลา ที่ทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในรูปแบบ “Gastronomy Tourism” ที่เป็นการออกแบบเส้นทางอาหารร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำเสนอกับฝ่ายตลาดของทั้งใน และต่างประเทศ โดยดึงธรรมชาติของแต่ละคนมาสู่การออกแบบอาหารในแต่ละเมนู รวมทั้งเชฟลี พิจิกา ยังมีความสามารถที่หลากหลาย โดยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต สภาหอการค้าไทย
และในส่วนของรายการ FoodHunter by Chef LeePijika เป็นรายการที่ออกเดินทางตามล่าหาวัตถุดิบเมนูต่างๆ ทั่วโลกเพื่อนำเสนอให้กับเหล่านักล่าอาหาร และในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการทำ “Reality Hunt” ไปยังหัวเมืองต่างๆ ตั้งแต่ภาคใต้ยันภาคเหนือสู่ภาคกลาง ของประเทศไทย เริ่มต้นจากจังหวัดภูเก็ตต่อเนื่องไปจังหวัดเชียงใหม่และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่เพียงแต่จะเป็นการออกล่าอาหาร แต่จะมีการนำเสนอที่พักและกิจกรรมที่มีอาหารเป็นสื่ออีกมากมาย
ในฐานะนักเล่านิทานนี่เอง “เชฟลี พิจิกา” เป็นทั้งผู้จัดและพิธีกรผู้ดำเนินรายการ “ฟู้ดฮันเตอร์” โดยเชฟลี พิจิกา “ซอก แซก แซ่บ สะใจ” ออกอากาศสดทางคลื่นวิทยุ 96.0 FM และ Online social media, ทุกๆวันอาทิตย์เวลา 10.00-12.00 น. และนอกเหนือไปกว่านั้นเชฟลียังมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “Chef LeePijika” ที่นำเอาประสบการณ์การเดินทางทั้งหมดที่เก็บเกี่ยวอาหารในระหว่างทาง มาจำหน่ายและช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรทั้งรากหญ้า และผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปต่างๆ และมีแพลนที่จะนำการออกแบบอาหารไปจำหน่ายเผยแพร่ในรูปแบบ “Pop-up Kitchen” ที่เพิ่งเปิดตัวไปในงาน “ThaiFex Anuga 2023” ที่มีการนำเอาผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ชั้นนำจากในและต่างประเทศอย่าง Real California Milk (USA), บริษัทเบทาโกร (มหาชน) จำกัด, บริษัทแม่ศรี, บริษัทพูนสินทั่งง่วนฮะ, ข้าวQ Rice, Hemp Pro, Hokkaido Milk, ผลิตภัณฑ์จากโครงการ “คนละดอย” และในรูปแบบ “Cloud Kitchen” ที่ร่วมกับร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมากมายอย่างในวันนี้เราจะมาทำการพิสูจน์รสชาติอาหารกันที่ร้าน Salada Organic Kitchen สาขา BDMS Wellness Clinic ถ.เพลินจิต ของ คุณเบ็ญจวรรณ จารุเชี่ยวพาณิช ที่ใส่ใจในคุณภาพอาหารจนได้รับตราสัญลักษณ์ความปลอดภัย Q Restaurant