มุ่งปรับใช้โอกาสให้เป็
ประเทศไทย 18 กุมภาพันธ์ 2564 โครงการ FutureProofing Healthcare ซึ่งประกอบด้วยคณะนักวิชาการชั้นนำผู้ทรงคุณวุฒิ 15 ท่านจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ออกมาแถลงเกี่ยวกับดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Asia-Pacific Personalised Health Index)[1] ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำเครื่องมือออกแบบนโยบาย ดัชนี้ดังกล่าวประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 11 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล พร้อมส่งมอบการรักษาที่คัดสรรมาให้ตอบโจทย์ผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที
ดัชนีนี้พัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลสาธารณะที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้ ผนวกกับข้อมูลเชิงลึกจากตัวแทนหน่วยงานสาธารณสุขจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผ่านการตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึง ดร. นเรศ ดำรงชัย ประธานกรรมการบริหาร Genepeutic Bio Co., Ltd และ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) โครงการ FutureProofing Healthcare ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโรช ช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบสุขภาพเข้าใจจุดเด่นและความต้องการในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เพื่อประกอบกระบวนการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลเป็นที่ตั้ง รวมถึงเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพสูงสุดระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาค พร้อมเดินหน้าหารือและกำหนดทิศทางความเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับความพร้อมของระบบสุขภาพ
ระบบสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงในประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร ในแง่จำนวนและอายุขัยที่สูงขึ้น จึงส่งผลโดยตรงให้ภาระทางการเงินและค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases) เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้ ทุกวันนี้ยังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อความท้าทายเหล่านี้มาผนวกกับงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาและด้านการเลื่อนสถานะทางสังคมที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงนับได้ว่าเป็นอุปสรรคครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น การนำแนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลมาปรับใช้ จึงมีส่วนช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ ในแง่ที่ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการและการจัดสรรทรัพยากร รวมถึงนำเสนอนโยบายและกรอบการทำงานที่จะช่วยรองรับนวัตกรรมการดูแลรักษาสุขภาพ
ทั้งนี้ ดัชนีความพร้อมด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลประเมินความพร้อมของแต่ละประเทศโดยมีเกณฑ์ประกอบการพิจารณามากถึง 27 ข้อ ซึ่งจำแนกออกได้เป็นสี่ด้าน หรือที่เรียกว่า ‘Vital Signs’ ประกอบไปด้วย (1) ด้านนโยบาย (2) ด้านข้อมูล (3) ด้านเทคโนโลยี และ (4) ด้านบริการ
แม้ดัชนีจะแสดงให้เห็นถึงระดับความพร้อมที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของแต่ละประเทศในภูมิภาค แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่าประเทศไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ความท้าทายจากความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท รวมถึงการผลิตโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล ส่งผลกระทบต่อบรรดาประเทศที่ได้รับคะแนนน้อยซึ่งมักเป็นประเทศที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นของการนำแนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลมาปรับใช้ รายงานผลการศึกษาระบุว่าประเทศที่มีความพร้อมด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลสูงสุด 3 ลำดับแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยได้คะแนนรวมอยู่อันดับที่ 7 ซึ่งยังนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมของกลุ่ม ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียได้คะแนนรั้งท้าย
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เน้นย้ำประโยชน์จากการนำการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลมาใช้ในระบบสาธารณสุขของไทย “สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขถือเป็นต้นกำเนิดของนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า การริเริ่มสมัชชาสุขภาพ โครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ เรายังมีส่วนร่วมในการนำร่องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ โดยจับมือกับพันธมิตรที่มีเชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อประโยชน์ของกระทรวงสาธารณะสุขและระบบสุขภาพของประเทศไทย เรามีเป้าหมายหนึ่งเดียวกัน นั่นก็คือให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว พร้อมดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และถ้าเจ็บป่วยก็ได้รับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและตรงจุด”
เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในระยะยาว ระบบสุขภาพจำเป็นที่จะต้องพัฒนากรอบการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล การวิเคราะห์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างข้อมูลเชิงลึกที่มีความหมาย นำมาประกอบการตัดสินใจ และขับเคลื่อนนวัตกรรมที่รองรับสุขภาพรายบุคคลและสุขภาพของประชากร – รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ป่วยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพของตนเอง
ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายการลงทุนและการต่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) “การพัฒนาการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เร่งรัดให้เกิดโครงการ Genomics Thailand โดยพื้นที่ EEC เป็นศูนย์กลางการวิเคราะห์ข้อมูล นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะยกระดับความร่วมมือกันเพื่อผลักดันความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านการแพทย์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
ด้านที่แต่ละประเทศได้คะแนนแตกต่างกันมากที่สุดคือ “บริบททางนโยบาย” เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ข้อจำกัดด้านเข้าถึงข้อมูลเพื่อการวิจัยด้านสุขภาพ และศักยภาพที่จำกัดด้านการให้บริการเพื่อการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ถึงแม้ประเทศไทยได้คะแนนสูงสุดในแง่กลยุทธ์การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลและมีศักยภาพสูงด้านการรวบรวมข้อมูล แต่ในด้านนโยบายก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องการการส่งเสริม โดยเฉพาะการเลื่อนสถานะทางสังคม ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 8 เนื่องจากสุขภาวะที่ดีแปรผันตามปัจจัยทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น แหล่งที่อยู่อาศัย อาชีพการงาน และความสมบูรณ์ทางโภชนาการ นอกจากนี้ ดัชนียังเผยว่าในด้านของเทคโนโลยี ซึ่งพิจารณาจากการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับสวมใส่ แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ประเทศไทยมีผลคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด รั้งท้ายอยู่อันดับที่ 11 นี่จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล
“การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ไม่ใช่แนวคิดใหม่สำหรับระบบสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ในที่สุดเราก็สามารถสร้างเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นได้สำเร็จ นอกจากนั้น การวางนโยบายที่เหมาะสมยังช่วยรองรับความสำเร็จของการปรับใช้แนวทางนี้ภายในภูมิภาคต่อไป”
ดร. นเรศ ดำรงชัย ประธานกรรมการบริหาร Genepeutic Bio Co., Ltd และ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่รวบรวมและวิเคราะห์ดัชนีนี้กล่าว “ขณะนี้ประเทศไทยกำลังปูพื้นฐานการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งครอบคลุมการวางแผนและการดำเนินการตามแผนงานเพื่อให้การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลเป็นจริงขึ้นมา ประเทศไทยยังจัดได้ว่ามีศักยภาพสูงด้านการรวบรวมข้อมูลซึ่งช่วยส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลได้บางแง่มุม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้น การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิตอล การเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การปรับกระบวนการกำกับดูแลให้รัดกุมยิ่งขึ้น การพัฒนาการเข้าถึงบริการและเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระบบดิจิตอล รวมไปถึงการขยายความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ การสร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและด้านคุณภาพการรักษา จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลได้ในอนาคต”
“เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนโครงการแนวใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อประเมินความพร้อมและผลักดันความก้าวหน้าไปสู่การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลในประเทศไทย FutureProofing Healthcare ได้ผนวกเอาหลายองค์ประกอบหลักตามวิสัยทัศน์ของโรช ที่มุ่งมั่นพัฒนาอนาคตของการดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงนวัตกรรมการรักษา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ และความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งช่วยให้การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลเป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด นอกจากนี้หนึ่งในผลการศึกษาที่สำคัญในดัชนีได้ชี้ให้เห็นว่า การเบิกจ่ายและสิทธิในการได้รับการวินิจฉัยและการบำบัดที่ตรงจุด ไม่สามารถเข้าถึงได้ทั่วไปในประเทศไทย ดังนั้นโรชจึงมีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่ออกนโยบาย เพื่อแสวงหาโอกาสและหนทางปรับปรุงประเด็นต่างๆ ตามที่ดัชนี้อ้างถึง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะพัฒนาระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและคงความยั่งยืน พร้อมรองรับความต้องการของผู้ป่วยต่อไปในอนาคต” ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าว
ผลการศึกษาในดัชนียังได้รับการเผยแพร่ในรูปของรายงานวิชาการ[2] ภายใต้หัวข้อ “Getting to Personalised Healthcare in APAC” หรือความก้าวหน้าสู่การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลในเอเชียแปซิฟิก เรียบเรียงโดยสถาบันวิจัยอนาคตแห่งโคเปนเฮเกน (Copenhagen Institute for Futures Studies) และรายงานข้อมูลเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รายงานวิชาการฉบับดังกล่าวยังประกอบด้วยมีคำแนะนำด้านนโยบายหลายประการโดยอ้างอิงจากผลการศึกษาในดัชนี เพื่อช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลในระดับภูมิภาค
The Personalised Health Index and whitepaper are now available on FutureProofingHealthcare.com.
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีประเมินความพร้อมด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล และรายงานเป็นทางการได้ที่ FutureProofingHealthcare.com.
…………………………………………………………………………….
[1] Asia–Pacific Personalised Health Index 2020. Available at: [https://futureproofinghealthcare.com/thailand-personalised-health-index] Last accessed 28 January 2021.
[2] Getting to Personalised Healthcare in APAC: Findings, insights and recommendations. Published January 2021. Available at: [https://futureproofinghealthcare.com/knowledge-base/getting-personalised-healthcare-apac] Last accessed 28 January 2021.