วธ. เชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2566

กระทรวงวัฒนธรรม

วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 เวลา 07.00 น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตักบาตร และพิธีปล่อยขบวนรถเทียนพรรษา กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2566 โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องแกลลอรี 5 ชั้น 1 อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า วันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2566 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2566 เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน ได้น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ ได้แก่

1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วย มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง และอริยสัจ 4 แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

2. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้พระสาวก คือ พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก

3. เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก

4. เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก และในวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เพราะเป็นวันที่พระสงฆ์จะอธิษฐานพำนักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ ที่เรียกว่า “จำพรรษา”

กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาจึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ให้ทาน รักษาศีล ลด ละ เลิก อบายมุข สืบทอดพระพุทธศาสนา สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีของงามของไทย โดยในส่วนกลาง ร่วมกับคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภายในกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายทางศาสนา ภาคเอกชน และสถานศึกษา จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตักบาตร และถวายเทียนพรรษา ในวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 เวลา 07.00 น. ณ กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยนำเทียนพรรษาไปถวายแก่พระอารามหลวง จำนวน 12 พระอาราม ประกอบด้วย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดปทุมวนาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดปากน้ำ วัดกัลยาณมิตร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสระเกศ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเทวราชกุญชร สำหรับพิธีตักบาตร กรมการศาสนา ได้ร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรดอกไม้ด้วยดอกเข้าพรรษา ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน เป็นประเพณีควรค่าแก่การอนุรักษ์ รวมทั้งการถวายภัตตาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการด้วยอาหารปรุงสุก เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่พระภิกษุและสามเณรเพื่อสร้างอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ในช่วงเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าว นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย จากเครือข่ายศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การสาธิตผลิตภัณฑ์จากชุมชนคุณธรรม และกิจกรรมตอบปัญหาธรรมะออนไลน์ผ่านทาง Facebook กรมการศาสนา ในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับของที่ระลึก สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา และหน่วยงานต่างๆ บูรณาการการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาส่งเสริมการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการสืบสานเทศกาล ประเพณี และวัฒนธรรม นำวิถีถิ่น วิถีไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของแต่ละภูมิภาคมาจัดกิจกรรมบนฐานของการเรียนรู้แก่นแท้ของหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา

กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กรมการศาสนา ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงภาคประชาชน จัดกิจกรรม “ถวายเทียนพรรษาทางน้ำ เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาอาเซียน จังหวัดสงขลา” ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ณ วัดคลองแห อำเภอหาดใหญ่ และวัดสำคัญในอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา จำนวน 10 แห่ง โดยกิจกรรมประกอบด้วย การหล่อเทียนและการถวายเทียนพรรษา ณ วัดคลองแห จากนั้นลงเรือเพื่อถวายเทียนพรรษาทางน้ำ ณ วัดและสำนักสงฆ์ต่าง ๆ ได้แก่ สำนักสงฆ์ทรายทอง วัดนารังนก วัดอู่ตะเภา วัดชลประธานประสิทธิ์ วัดดอน วัดคูเต่า วัดท่าเมรุ วัดบางโหนด และสำนักสงฆ์แหลมโพธิ์ ซึ่งนอกจากจะมีพุทธศาสนิกชนชาวไทยเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีพุทธศาสนิกชนชาวอาเซียน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย เนื่องจากจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย โดยการเข้ามาของคนมาเลเซียส่วนใหญ่จะเข้ามาท่องเที่ยวและไหว้สักการะพระพุทธรูปและพระสงฆ์ที่ให้ความเคารพนับถือ รวมทั้งในจังหวัดสงขลายังมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย เข้ามาอาศัยในจังหวัดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเมียนมา ดังจะเห็นได้ว่า ที่วัดคลองแหได้มีการก่อสร้างเจดีย์ชเวดากองจำลอง เรียกกันว่า เจดีย์ชเวดากองคลองแห หรือเจดีย์ชเวดากองหาดใหญ่ เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ที่จำลองมาจากเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา องค์เจดีย์เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งไทยและเมียนมาเข้าด้วยกัน มีขนาดกว้าง 20 เมตร สูง 17 เมตร ซึ่งเกิดจากพลังศรัทธาของพี่น้องชาวไทยและชาวเมียนมาร่วมกันบริจาคและสร้างขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมียนมา อีกทั้งเพื่อเป็นการตอบแทนผืนแผ่นดินไทยที่ให้แรงงานชาวเมียนมาได้มีโอกาสเข้ามาทำงาน อยู่อาศัย และมีรายได้หาเลี้ยงครอบครัว โดยพบว่าในวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลต่างๆ จะมีชาวเมียนมาเข้ามาร่วมกิจกรรม ณ วัดคลองแห เป็นจำนวนมาก

กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมหล่อเทียนพรรษา สานสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2566 เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานี ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ดังจะเห็นได้ว่า กิจกรรมทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคคณะสงฆ์ หน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการนำมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมมาเป็นสื่อกลางเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันทั้งในระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับเสาหลักด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการส่งเสริมให้ประชากรในภูมิภาคสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสันติสุข

Leave a Reply