จากกรณีโรงงานเม็ดพลาสติกแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ เกิดระเบิดและไฟไหม้อย่างรุนแรง ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีการใช้สารสไตรีน (Styrene monomer) และเพนเทน (Pentane) ในกระบวนการผลิตเม็ดโฟมและเม็ดพลาสติก สำหรับสไตรีนซึ่งเป็นสารประกอบอะโรมาติกถ้าเกิดการเผาไหม้จะเกิดเป็นสารกลุ่ม โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือ PAHs, อนุภาคฝุ่น PM2.5, Carbon monoxide (CO), Nitrogen oxides (NOx) ซึ่งถ้าสูดดมเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PAHs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญ
สาร PAHs เป็นสารมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงและถ่านหิน ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องยนต์ เขม่าควันไฟ ควันธูป ควันบุหรี่ อาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน ยาหรือเครื่องสำอางบางชนิด ซึ่ง PAHs สามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ สามารถเข้าสู่ร่างกายเราโดยการสัมผัส สูดดม หรือบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน PAHs ในปริมาณสูง
ดร.ภูวดล ธรรมราษฎร์ ผู้จัดการอาวุโส ห้องปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์จำกัด (NHealth) ระบุว่า PAHs มีคุณสมบัติเป็นอนุมูลอิสระ (Free Radical) ซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อของเรา ดังนั้นการได้รับในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ปอดถูกทำลาย มีอาการคล้ายหอบหืด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า PAHs เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์และก่อมะเร็งได้
ทั้งนี้การตรวจประเมินการรับสัมผัสสาร PAHs คือการตรวจวัดระดับสาร 1-Hydroxypyrene (1-OHP) ในปัสสาวะซึ่งสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) สำหรับตรวจติดตามระดับการได้รับสาร PAHs ในร่างกายได้ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Liquid Chromatography Tandem Mass Spectrometry (LC-MS/MS) ซึ่งมีความจำเพาะต่อโมเลกุลของสารที่ตรวจและให้ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ
ประโยชน์ของการตรวจหาสาร PAHs เพื่อที่จะทราบว่าร่างกายได้รับสารดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน และอยู่ในระดับที่เสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงและวางแผนการดูแลสุขภาพหรือหาทางป้องกันได้อย่างเหมาะสม “รวมถึงสามารถใช้ประเมินความเสี่ยงหรือเฝ้าระวังสำหรับประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมหรืออยู่ในเขตที่เกิดอุบัติเหตุสารเคมีระเบิดหรือลุกไหม้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงควรได้รับการตรวจวัดระดับสาร 1-OHP ในปัสสาวะหลังปฏิบัติงานทันที
อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันตัวเองจากสารมลพิษทางอากาศที่ดีและง่ายที่สุดคือการสวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดจมูกเพื่อกันควันหรือฝุ่น หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีควันหรือฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน หลีกเลี่ยงการจราจรช่วงติดขัด นอกจากนี้การเปิดเครื่องฟอกอากาศ และหมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ก็สามารถช่วยลดการสัมผัสฝุ่นและมลพิษได้
Tags: Mileday365NHealthอินเทรนด์365วันเม้าท์กินฟินเที่ยวไลฟ์สไตล์365วันโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ไมล์เดย์365