“ระยอง” หนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกของประเทศไทยภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและภาคอุตสาหกรรมไทย อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและผลไม้ที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ยางพารา ไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด สับปะรด โดยมีพื้นที่การเกษตร 1,213,989 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมด สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และรายได้สู่ประเทศไทย มีการส่งเสริมพัฒนารูปแบบการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ และศักยภาพของพื้นที่ ก่อให้เกิดการเกษตรรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้ปราศจากสารเคมี เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์
“ระยอง” มีศักยภาพ และมีความเหมาะสมในการทำเกษตร รวมถึงผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย มีการส่งเสริมการนำหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP = Good Agricultural Practice) เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และเกษตรกรผู้ผลิตมีสุขภาพอนามัยดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าทางการเกษตรของประเทศไทยรักษาสภาพแวดล้อม และเกิดระบบการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืนปัจจุบัน มีพื้นที่ผลิตพืชที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP จากกรมวิชาการการรับรอง จำนวน 7,451 ราย พื้นที่ 50,399 ไร่ ครอบคลุมชนิดพืชอาหาร มากกว่า 20 ชนิด
นอกจากนี้ ยังนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการทำเกษตร เช่น ระบบการให้น้ำอัจฉริยะ ระบบการให้ปุ๋ยทางระบบการให้น้ำ การใช้ถุงห่อผลไม้ เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิตทุเรียน (Magik Growth) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ช่วยเพิ่มน้ำหนักผล เปลือกทุเรียนบางลง เพิ่มปริมาณเนื้อ ผิวเปลือกสวย ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมให้เกษตรกร นำระบบการตรวจสอบย้อนกลับสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ด้วยสติ๊กเกอร์ QR Code ซึ่งใช้มากใน ทุเรียน สินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดระยอง
ปี 2566 “ระยอง” มีพื้นที่ผลิตพืชอินทรีย์ ซึ่งเป็นการเกษตรที่ใช้หลักการพึ่งพิงความสมดุลตามธรรมชาติระบบนิเวศการเกษตรที่ยั่งยืน โดยใช้หลักการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรให้เกิดการผสมผสานเกื้อกูลกันและกัน มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกระบบนิเวศที่เป็นไปตามหลักการอินทรีย์ และใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นชีวภัณฑ์และสารอินทรีย์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต รวมทั้งสารอินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหน่วยตรวจรับรองแหล่งผลิต มีพื้นที่ 247 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.019 ของพื้นที่การเกษตร ชนิดสินค้าเกษตรที่ผลิตในระบบอินทรีย์ ได้แก่ ทุเรียน, เงาะ, มังคุด, ลองกอง, สับปะรด, พริกไทย, กระท้อน, มะนาว และพืชผัก นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรที่ปฏิบัติและสมัครเพื่อขอรับการตรวจรับรอง อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน และอยู่ระหว่างการตรวจอีกจำนวน 190 ไร่ ปัจจุบันจังหวัดระยองมีเกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์ ยึดหลักเกษตรอินทรีย์จนประสบความสำเร็จ ได้แก่
สวนเอนกอนันต์ โดยนางอุทัยทิพย์ เปรมอนันต์ และนายสุรศักดิ์ ขุมทอง กับพื้นที่สวนผลไม้เกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา ที่สวนแห่งนี้มีผลไม้อินทรีย์ เช่น มังคุด ลองกองเงาะ พริกไทย ชมพู่มะเหมี่ยว หม่อน ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ หรือ “Organic Thailand” จากกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2553 และได้รับคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันนอกจากมังคุดอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตอินทรีย์หลากหลายชนิด ได้แก่ แยมลูกหม่อน แชมพูมะกรูด สบู่น้ำผึ้ง สบู่มังคุด
สวนลุงยอด ของ นายกำธร เอ็นดูราฎร์ อยู่ในตำบลวังหว้า อำเภอแกลง ที่นี่ปลูกผลผลิตแบบธรรมชาติปราศจากสารเคมี ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับมาตรฐานอินทรีย์มากมาย ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ผลผลิตทุเรียนอินทรีย์ และทุเรียนกวนอินทรีย์มีชื่อเสียง ลูกค้าถึงกับต้องสั่งจองล่วงหน้าผ่านเพจสวนลุงยอด การันตีใบรับรอง Organic Thailand ยืนยันว่าผลผลิตของที่นี่มีคุณภาพปลอดสารเคมี
สวนป้าดา-วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โขดหินเขาไผ่ ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง เกิดจากกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ให้เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแก่ประชาชนในเขตเมืองมากยิ่งขึ้น สินค้าที่ได้รับมาตรฐานอินทรีย์ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลูกค้าสวนป้าดาส่วนใหญ่เป็นพนักงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
บ้านสวนต้นน้ำ ของนายภคิน ทองเพชรบูรพา ในตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกช.) ได้แก่ มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) มาตรฐานระบบอินทรีย์แคนาดา ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำให้สามารถขายส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วม “โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ‘นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth’ แทนการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และช่วยทำให้เปลือกบาง-เนื้อหนาขึ้นเป็นการช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของเกษตรกรต้นแบบผู้ผลิตพืชอินทรีย์ที่ได้ใบรับรองมาตรฐาน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่พร้อมให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่ผู้สนใจ นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่ดำเนินการเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ SDGsPGS และเกษตรอินทรีย์เชิงวิถีอีกจำนวนหนึ่งที่ยึดหลักปฏิบัติตามแนวเกษตรอินทรีย์อย่างเข้มแข็ง เพื่อตนเอง ครอบครัว และเผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่นที่ต้องการผลผลิตปลอดภัยต่อสุขภาพ ด้วยการร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนทุกภาคส่วน ส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐาน ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลผลิตที่ปลอดภัยสร้างความยั่งยืนในอาชีพการเกษตร ผ่านตลาดเกษตรกร ตลาดโมเดิร์นเทรด และการตลาดระบบตลาดออนไลน์เป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะได้เลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัย มีคุณภาพ จากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรงในราคายุติธรรม และยังสามารถเข้าถึงสินค้าเกษตรปลอดภัยได้จากสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง เชื่อถือได้ จำนวน 81 สวน สร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย ได้มาตรฐาน “เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตดี สุขภาพดี และรายได้ที่เพิ่มขึ้น”