เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ณ โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB (สสปน.) เริ่มแผนแม่บทใหม่ พร้อมดึงงานเข้าสู่พื้นที่ อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 15 งาน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ รองรับการจัด Thailand International Air Show เต็มรูปแบบในปี 2568 โดยเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยงานแสดงสินค้านานาชาติผ่านแผนแม่บท 3 ปี “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” (Thailand LOG-IN Events) มุ่งเน้นการสร้างงานใหม่และการขยายงานลงสู่พื้นที่พันธมิตรหลักอย่าง อีอีซี ในฐานะจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับนักลงทุนทั่วโลก และเมืองพัทยา ในฐานะไมซ์ซิตี้แห่งแรกของประเทศไทย
เมืองพัทยา 1 ใน 6 ไมซ์ซิตี้ของประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร, พัทยา, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ภูเก็ต และ สงขลา) และเป็นไมซ์ซิตี้เพียงเมืองเดียวเมืองเดียวในภาคตะวันออก เป็นเมืองที่ความพร้อมในด้านรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนและธุรกิจบริการ มีที่พัก โรงแรมและศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่เหมาะแก่การจัดประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ (เช่น ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา – NICE และ ศูนย์ประชุมนานาชาติพีช พัทยา – PEACH) เมืองพัทยามีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสบการณ์การรองรับการจัดงานประชุม งานแสดงสินค้านานาชาติ และเมกะอีเวนท์มากมาย ทำให้พัทยาเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่พร้อมรองรับงานไมซ์ได้อย่างครบวงจร
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า “นโยบายของทีเส็บในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านแคมเปญส่งเสริมการจัดงานไมซ์ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายลง และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ให้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้ผ่านการกระตุ้นด้วยแผนแม่บท ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนด้านงานแสดงสินค้านานาชาติเป็นหลักผ่านการประสานประโยชน์กับพันธมิตรหลักอย่าง อีอีซี และ เมืองพัทยา ในการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนด้านการเงินในการจัดงานแบบปกติใหม่ (new normal) การสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจพื้นที่ ค่าประชาสัมพันธ์งาน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกเมื่อเจ้าของงานเลือกสร้างงานใหม่หรือขยายงานเดิมมาลงยังพื้นที่ อีอีซี และ พัทยา”
“แผนแม่บทนี้จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้การจัดงานงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การจัดการภัยธรรมชาติ และการรับมือโรคระบาด รองรับผู้ประกอบการด้วยสิทธิประโยชน์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การจัดงานประสบความสำเร็จ”
ผ่านกิจกรรมเสวนาพร้อมกับวิทยากรรับเชิญที่มาร่วมพูดคุยถึงความพร้อมและความคืบหน้าของแผนแม่บทดังกล่าว ได้แก่ ดร.คเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี, คุณรัตนชัย สุทธิเดชานัย ที่ปรึกษาเมืองพัทยาด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ คุณธเนศ จันทร์เจริญ คณะทำงาน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ ยูทีเอ / หัวหน้าคณะทำงานด้านวางแผนกลยุทธ์ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดยมีคณะสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 30 สำนัก
โดยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือแต่เดิมที่รู้จักกันในชื่อพื้นที่ อีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา EEC เป็นหนึ่งในแผนที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเขตส่งเสริมรองรับกิจการพิเศษ เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และกิจการอุตสาหกรรมอย่างน้อย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ปัจจุบัน EEC เข้าสู่การพัฒนาเฟสที่ 3 มุ่งเน้นอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย เทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากรมนุษย์ เป้าหมายคือการผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการเป็นประตูสู่พื้นที่การลงทุนในเอเชีย ด้านความคืบหน้าของโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา) การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis) ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีกำหนดจะแล้วเสร็จพร้อมรองรับกิจการอย่างเต็มศักยภาพภายในปี พ.ศ. 2569
มีโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เป็นอุตสาหกรรมฐานรากที่ช่วยให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ เติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างสมรรถนะการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ กระตุ้นภาคธุรกิจให้ขยายตัว ตามนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมก้าวหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรมอวกาศและการบิน อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันการค้าการลงทุนให้เป็นรูปธรรม
โดยวางเป้าหมายหลักของแผนแม่บท ออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
2.1 ส่งเสริมงานแสดงสินค้านานาชาติทุกรูปแบบที่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมอวกาศและการบิน รวมไปถึงอุตสาหกรรมก้าวหน้าของประเทศและในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการจัดการภัยพิบัติ
2.2 ผลักดันให้เกิดงานแสดงสินค้านานาชาติกลุ่มดังกล่าวในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เพื่อเร่งพัฒนาการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการสนับสนุนทางด้านการเงิน การอำนวยความสะดวก และการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน สร้างความมั่นใจแก่ธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลก ให้เลือกเดินทางมาประกอบธุรกิจผ่านแพล็ตฟอร์มงานแสดงสินค้านานาชาติภายใต้แผนแม่บทนี้ ก่อนจะนำไปสู่การค้าการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยมีเมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางต่อไปในอนาคต
TCEB เล็งเห็นพันธกิจของ GISTDA ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทไทยแลนด์ ล็อกอิน อีเวนท์ คือ การยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการจัดงานไมซ์ระดับโลก จึงเป็นที่มาของการจับมือกันระหว่าง TCEB และ GISTDA ในฐานะพันธมิตรภายใต้แผนแม่บทนี้ และในฐานะเจ้าภาพร่วมการนำหนึ่งในงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมอากาศยานที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือ Thailand International Air Show ลงพื้นที่ EEC ในอีก 3 ปีข้างหน้า คือปี พ.ศ. 2566 นอกจากเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานผ่านการจัดงานไมซ์แล้ว อุตสาหกรรมอากาศยานยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศโดยตรง ทำให้ส่งเสริมการพัฒนาและแลกเปลี่ยนนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมอวกาศในคราวเดียวกัน
TCEB ได้นำร่องแผนแม่บท “ไทยแลนด์ ล็อกอิน อีเวนท์” พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
อุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานยุคดิจิทัลที่สำคัญอย่างยิ่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 หมื่นล้านบาท อัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นถึง 10% (ข้อมูลปี พ.ศ. 2562) GISTDA ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจส่งเสริมพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอวกาศ จึงเร่งสนับสนุนพัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับสังคม กิจการด้านอุตสาหกรรมอวกาศที่คนทั่วไปรู้จัก เช่น การสำรวจอวกาศ การขนส่งทางอวกาศ ระบบการหาตำแหน่งทั่วโลก (GPS) และ ดาวเทียมและระบบควบคุมเพื่อการต่าง ๆ (เช่น ดาวเทียมสื่อสาร สำรวจพื้นที่และทรัพยากร พยากรณ์อากาศ และทางทหาร)
TCEB ยังร่วมมือกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน่วยงานดูแลพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นำทีม 3 ชุมชนวิถีท่องเที่ยวท้องถิ่นจากชลบุรีจัดกิจกรรมต้อนรับคณะสื่อมวลชนในงาน Media Visit: Thailand LOG-IN Events ช่วงรับประทานอาหารเย็น ภายใต้ธีม “สีสันแห่งทะเลตะวันออก” ที่ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา และเข้าร่วมงานดินเนอร์ทอล์คริมชายหาด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทีเส็บ โรงแรมดุสิตธานี และ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และการนำเสนอสินค้าชุมชนเข้ากับกิจกรรมของทีเส็บโดยเย็นวันนี้ มีตัวอย่างของดีชุมชนในพัทยามาจัดแสดง ให้ชม ชิม ช้อป และร่วมลองทำด้วยตัวเองอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของแคมเปญสนับสนุนและแผนแม่บท “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” จากทีเส็บได้ที่ exhibitions@tceb.or.th