เต็ดตรา แพ้ค ผู้นำเสนอโซลูชันการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก เผยรายงานฉบับสรุป ‘เทรนดิพีเดีย 2022’ ที่แสดงถึงข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากปีที่แล้วที่เห็นได้ชัด 3 ประการ ได้แก่ Stay in Control ความสามารถในการควบคุม ทั้งในเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่าย, Break Out & Re-Experience ความสนุกและสัมผัสประสบการณ์ใหม่ และ Explore OMNI-Spaces ความต้องการพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมด้วยตัวอย่างที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในสิ่งที่แบรนด์สามารถทำได้ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งปรับเปลี่ยนสินค้าหรือบริการให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคเพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของแบรนด์
ในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มกลับมาเป็นปกติ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างโหยหาการเข้าสังคมและการใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่อกลับไปรู้สึกถึงความสมดุลในชีวิตอีกครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าหลายอย่างกลับพลิกผันอย่างรวดเร็วและอนาคตยังดูต่างจากที่คาดคิดไว้ สงครามครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนสำคัญให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และทำให้ทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทานขาดแคลนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผู้บริโภคต้องเผชิญหน้ากับค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกนี้อาจเป็นสิ่งที่ช่วยเร่งนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น การฟื้นฟูตลาดหลังการระบาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจมีความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าใจผู้บริโภค และรับรู้ถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ของผู้คน นอกจากนั้น เรายังควรจัดหาสินค้าและบริการที่ตรงใจและสนองต่อความต้องการ เนื่องจากผู้บริโภคจะเริ่มใช้จ่ายอย่างรอบคอบกันมากขึ้น
เทรนด์ของผู้บริโภคในปี 2564 ยังคงมีความสอดคล้องกับปี 2565 ในรายงานสรุปเทรนดิพิเดียของเต็ดตรา แพ้ค เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหลัก 3 ประการโดยเฉพาะ อันดับแรกคือ “Stay in Control” ในช่วงที่ทุกอย่างคือความไม่แน่นอน ผู้บริโภคต้องการรู้สึกว่าชีวิตอยู่ในการควบคุม ซึ่งความกังวลอันดับต้น ๆ จะเป็นเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเงิน
“ในเทรนด์ Stay in Control ระบุถึงการจัดการกับความรู้สึกที่ไม่แน่นอนจากสถานการณ์โรคระบาดของผู้บริโภคและตอนนี้พวกเขาต้องการที่จะควบคุมทุกอย่างในแบบที่สามารถทำได้ แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ มีภารกิจมากขึ้นในการให้ข้อมูลที่มีความชัดเจนและเชื่อถือได้ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความสนใจของผู้บริโภค ทั้งนี้ แบรนด์ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมการเลือกซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มตามที่ตนเองต้องการ ด้วยการให้รายละเอียดสินค้าอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์ การระบุส่วนผสม หรือความก้าวหน้าด้านความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” คุณปองสงวน จีระเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยด้านไลฟ์สไตล์ ในประเทศอินเดียและประเทศไทย ของบริษัท มินเทล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
เทรนด์การเปลี่ยนแปลงอันดับที่สองของปี 2565 คือเทรนด์ “Break Out & Re-Experience” ที่สะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคในการแสวงหาความสุขและความสนุกสนานเพื่อคลายความเครียด “สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มดีขึ้นทำให้ผู้บริโภคมองหาหนทางที่จะหลุดออกจากกรอบเดิมๆ และค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตมีความสุขและสนุกสนานมากขึ้น แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจึงสามารถส่งมอบประสบการณ์เหล่านี้ ผ่านผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระตุ้นรสสัมผัสในด้านต่าง ๆ การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการบริโภค การทำกิจกรรมการตลาดที่ใช้เทคโนโลยีหรือสร้างประสบการณ์เสมือนจริงเพื่อเชื่อมโยงให้ผู้คนเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างและช่วยให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น” คุณสุทธินันท์ เตชะทยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในอันดับที่สามจากรายงานเทรนด์ดิพิเดีย เรียกว่า “Explore OMNI-Spaces” ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม บ้านยังคงเป็นที่ผ่อนคลายหลักสำหรับหลาย ๆ คน ผู้บริโภคต่างได้ลองทำอาหารกันที่บ้านและ ตระหนักถึงประโยชนที่ได้รับ ความสะดวกสบายในบ้านกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้ทุกมื้ออาหารเกิดขึ้นที่บ้านเป็นประจำ อุปกรณ์ทำอาหารและบริการจัดส่งอาหารออนไลน์จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคต่างมองหาตัวช่วยที่จะมาทำให้ชีวิตของพวกเขาเป็นเรื่องง่ายภายใต้ช่วงเวลาอันแสนกดดัน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการจัดส่งอาหารถึงหน้าบ้านไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนช่วงที่ผ่านมาและอาจจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่พฤติกรรมการสั่งอาหารของผู้บริโภคดูเหมือนว่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
“การแพร่ระบาดใหญ่ทำให้เราเห็นคุณค่าในการเชื่อมต่อกับผู้คน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสะดวกสบายของการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น” คุณแสงโสม บัวลำใย ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ธุรกิจ บริษัท อิคาโน่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “แบรนด์ต่าง ๆ จะสามารถตอกย้ำเทรนด์นี้ได้ด้วยการรวมช่องทางการขายหน้าร้านเข้ากับการจำหน่ายแบบออนไลน์ เราจะเห็นว่าผู้ค้าปลีกจำนวนมากขึ้นปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์นี้ และสร้างสภาพแวดล้อมแบบผสมผสาน ซึ่งผนวกรวมองค์ประกอบทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกันอย่างไร้ที่ติ”
“พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอย่างมาก” คุณสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในปี 2565 ชี้ให้เห็นว่า บรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานสะดวกเป็นที่ต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการบริโภคในครัวเรือนหรือระหว่างเดินทาง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เปิดง่าย กันรั่ว และสามารถเปิด-ปิดซ้ำได้ยังถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้ชีวิตที่มีความยืดหยุ่นของผู้บริโภค สำหรับช่องทางการให้บริการด้านอาหาร จะเห็นว่าร้านค้าต่าง ๆ ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งง่ายต่อการจัดเก็บและวางซ้อนกันบนชั้น และเทรนด์เช่นนี้เอง เป็นตัวชี้ชัดว่าทุกภาคส่วนในปีนี้ต้องการโซลูชันบรรจุภัณฑ์เชิงนวัตกรรม ที่จะมาช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น”
เต็ดตรา แพ้ค นำเสนอรายงานเทรนด์ผู้บริโภค เทรนด์ดิพิเดีย ประจำปี 2565 ให้กับลูกค้าของเรา เพื่อให้พวกเขาเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง