สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยความร่วมมือกับอาจารย์ ดร.เตยงาม คุปตะบุตร ศิลปินหญิงและอาจารย์ภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณศรีริต้า เจนเซ่น ณรงค์เดช สมาชิกกิตติมศักดิ์ กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัยของ UNHCR จัดงานนิทรรศการ “อนุสาวรีย์ไหมพรมแห่งความรัก” ผลงานศิลปะจากการถักทอไหมพรมเพื่อสื่อถึงความเข้มแข็ง และกล้าหาญของเด็กผู้ลี้ภัยที่กำลังเผชิญวิกฤติทั่วโลก
จากรายงานของ UNHCR พบว่าวิกฤติสงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ในปี 2565 มีจำนวนผู้ลี้ภัย และผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นสูงถึงกว่า 110 ล้านคน ถือเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากหลังสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าครึ่งของประชากรผู้ลี้ภัยในโลกคือ “เด็ก” หลายคนต้องใช้ชีวิตในวัยเด็กทั้งหมดในพื้นที่ที่ห่างไกล จากบ้านเกิดหลายครั้ง พลัดพรากจากครอบครัว เด็กๆจำนวนมากได้เห็นหรือมีประสบการณ์ผ่านการกระทำที่รุนแรง และในระหว่างลี้ภัยน้องๆมีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด เพิกเฉย ความรุนแรง การถูกแสวงประโยชน์ หรือการค้ามนุษย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เด็กผู้ลี้ภัยมีภาวะยืดหยุ่นทางจิตใจอย่างน่าอัศจรรย์ น้องๆเรียนรู้ เล่น และค้นหาทักษะ เพื่อหาแนวทางที่จะจัดการกับปัญหา พร้อมดึงความเข้มแข็งของตนเอง ครอบครัว และชุมชนออกมาได้
“เด็กๆควรมีโอกาสเล่น เรียน และมีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ไม่ใช่พลัดพรากจากครอบครัวเพราะสงคราม” นาวีน อัลเบิร์ต รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ กล่าว “UNHCR ทำงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรในประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อมอบความคุ้มครอง และหาทางออกที่ถาวรให้แก่เด็กผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเด็กที่พลัดพรากจากพ่อแม่ รวมถึงสนับสนุนการศึกษา และการฟื้นฟูจิตใจอีกด้วย”
ดร.เตยงาม คุปตะบุตร ศิลปินหญิงและอาจารย์ภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ติดต่อ UNHCR เพื่อเสนอความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะเด็ก จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง และสิ่งที่เห็นรอบตัว
“ได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้เรื่องสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็พบว่า มีจำนวนสงครามและปริมาณผู้คนตที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ จึงมาพิจารณาว่าตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ทำงานศิลปะได้ จะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง”
ดร.เตยงาม คุปตะบุตร อาจารย์ภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าว “สิ่งที่เรารู้สึกสะเทือนมากที่สุดคือ สถานการณ์ของเด็ก ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน ชีวิตวัยเด็กน่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุด แต่… เด็กทุกคนไม่ได้โชคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่เติบโตขึ้นมาในฐานะผู้ลี้ภัย เราหวังว่าผลงานศิลปะ “อนุสาวรีย์ไหมพรมแห่งความรัก” จะเป็นส่วนหนึ่งให้ผู้ที่ได้ร่วมชมนิทรรศการได้ระลึก ยกย่อง เชิดชูและส่งมอบกำลังใจให้แก่เด็กๆต้องเผชิญกับความยากลำบากและความโหดร้ายของสงคราม”
นอกจากนี้ นิทรรศการ “อนุสาวรีย์ไหมพรมแห่งความรัก” ยังได้รับความร่วมมือจากคุณศรีริต้า เจนเซ่น ณรงค์เดช สมาชิกกิตติมศักดิ์ กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัยของ UNHCR ที่ช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ให้ผลงานศิลปะได้รับรู้ในวงกว้าง
“ริต้าคุ้นเคยกับการทำการกุศลมาตั้งแต่เป็นเด็กสมัยมัธยม เริ่มจากสนับสนุนเรื่องการศึกษาของเด็ก”คุณศรีริต้า เจนเซ่น ณรงค์เดช สมาชิกกิตติมศักดิ์ กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัยของ UNHCR กล่าว “พอเราเปลี่ยนสถานะเป็นแม่ ยิ่งอ่อนไหวกับเรื่องความรัก ความผูกพันของแม่ลูก จึงตั้งใจว่าจะทำหน้าที่สื่อสารให้คนไทยรับรู้เกี่ยวกับชีวิต และสถานการณ์ผู้ลี้ภัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องผู้หญิง และเด็กผู้ลี้ภัย”
นิทรรศการผลงานศิลปะ “อนุสาวรีย์ไหมพรมแห่งความรัก” โดย ดร.เตยงาม คุปตะบุตร ศิลปินหญิงและอาจารย์ภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะมีการจัดแสดงให้ทุกท่านเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ถึง 26 กันยายน 2566 ณ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ผู้ที่สนใจสามารถจองผลงานได้ในงาน รายได้หลังจากการหักค่าใช้จ่ายมอบให้แก่ UNHCR เพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กผู้ลี้ภัยทั่วโลก อาทิ การหาครอบครัวที่พลัดพราก การฟื้นฟูสภาพจิตใจ การศึกษา รวมถึงการจดทะเบียนเกิด เพื่อให้เด็กผู้ลี้ภัยสร้างชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ส่วนหนึ่งของผลงาน “อนุสาวรีย์ไหมพรมแห่งความรัก” จะนำไปจัดแสดงให้ทุกท่านเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 20 ถึง 26 กันยายน 2566 ณ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาซซี่
“อนุสาวรีย์ไหมพรมแห่งความรัก” ใช้เวลาในการผลิตอย่างยาวนานกว่า 2 ปี โดยมีความหมายว่าวัสดุที่ใช้สร้างอนุสาวรีย์ชุดนี้ จะไม่ใช่โลหะที่มีความคงทนอยู่ได้หลักร้อยปี แต่ไหมพรมได้แสดงให้เห็นถึงนัยยะที่สำคัญ ก็คือ ความเปราะบางของชีวิตเด็ก ที่อาจถูกบั่นทอน ถูกทำร้าย และถูกทำให้เสียหาย หากเรายื่นมือเข้าไปช่วยไม่ทัน เพราะดิฉันเชื่อเสมอมาว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน เป็นคนเหมือนกัน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ เพื่อที่จะสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ก็ตาม