สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และโนโว นอร์ดิสค์ ผนึกความร่วมมือกับภาครัฐ ร่วมขจัดภาระโรคเบาหวานและโรคอ้วนในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนสู่การมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

เนื่องในวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ของทุกปี ในปี 2566 นี้ สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ได้ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย และโนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย เปิดเวทีเสวนาหัวข้อ ‘การผนึกความร่วมมือภาครัฐและเอกชน เพื่อขจัดภาระโรคเบาหวานและโรคอ้วนในประเทศไทย’ ซึ่งได้ระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (หรือ NCDs) พร้อมสนับสนุนภาครัฐและพันธมิตรเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในการลดอัตราผู้ป่วยเบาหวาน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษา และสิทธิในการเบิกจ่าย โดยได้รับเกียรติจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมเวทีเสวนาเพื่อให้ข้อมูลเชิงนโยบายสุขภาพ และการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

นายยอน ธอร์กอร์ด (H.E. Mr. Jon Thorgaard) เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้เน้นให้ความสำคัญของการผนึกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาด้านการดูแลสุขภาพที่ซับซ้อน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคเรื้อรังอื่นๆ พร้อมสนับสนุนและเชื่อมสัมพันธ์พันธมิตรระหว่างประเทศและแบ่งปันข้อมูลด้านสาธารณสุขเพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น เน้นความสำคัญด้านนวัตกรรม การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการสร้างสมดุลความยั่งยืนของสุขภาพ ซึ่ง ‘การดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน’ ถือเป็นการลุงทนสำหรับอนาคตร่วมกันของพวกเราทุกคน

ที่ผ่านมา รัฐบาลเดนมาร์กประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนผ่านศูนย์ดูแลสุขภาพ Steno Diabetes Center ที่ Copenhagen โดยมีมูลนิธิโนโว นอร์ดิสค์ ทำงานใกล้ชิดร่วมกับภาครัฐในการยกระดับคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการด้านสาธารณสุขให้สามารถรองรับผู้ป่วย และขยายการเข้าถึงบริการสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยได้การรับรองจาก World Economic Forum’s Global Coalition for Value in Healthcare ว่าเป็นศูนย์ฯ ที่เป็นผู้นำระดับโลกที่สร้างนวัตกรรมการดูแลสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

ช่วงกล่าวเปิดงาน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) โดยเพิ่ม “คน” หรือ People ถือเป็นหัวใจสำคัญ และเน้นการแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกัน เพราะเป็นปัจจัยหลักให้เกิดความยั่งยืนเชิงสุขภาพได้ในระยะยาว เนื่องจากโรคเบาหวานและโรคอ้วนถือเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ดังนั้น จำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากตัวเอง สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีการขยับร่างกายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น และให้สังคมหรือชุมชนช่วยกระตุ้นพฤติกรรมเชิงบวกร่วมกัน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มโครงการ ‘โรงเรียนเบาหวานวิทยา’ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนในการดูแลตัวเอง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในด้านสาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

นายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ (Enrico Cañal Bruland) รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย จำกัด เผยถึงความมุ่งมั่นของโนโว นอร์ดิสค์ ด้วยการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนมายาวนานครบ 100 ปี นับว่าเป็นความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพในระดับโลกเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อการมีสุขภาพที่ดีในปัจจุบัน และสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป ด้วยนวัตกรรมการรักษาและการป้องกันแบบบูรณาการ ไม่เพียงแต่โรคเบาหวานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคอ้วน และโรค NCDs อื่นๆ ขณะที่ประเทศไทย โนโว นอร์ดิสค์ ดำเนินการมา 40 ปี โดยได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในโครงการ Affordability Project เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษาโรคเบาหวานในพื้นที่ชนบทอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและรักษาโรคเบาหวานแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขของไทย

โครงการฯ ดังกล่าว มีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2568 และได้มีการกำหนดค่าเป้าหมายร่วมกันใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) มีจำนวนผู้ได้รับการตรวจคัดกรองทั้งหมด 53,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัด (2) มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งหมด 7,000 คน และ (3) มีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและอยู่ในการควบคุมดูแลระดับน้ำตาลอย่างเข้มข้นจำนวน 7,000 คน โดยจากการดำเนินโครงการในปีแรก พบว่ายังจำเป็นต้องมีการสร้างความตระหนักในเรื่องการตรวจคัดกรอง และเสนอให้มีการจัดการข้อมูลเพื่อใช้ในการติดตามและตรวจสอบ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนจำนวนอาสาสมัครที่เป็นผู้ตรวจคัดกรองในพื้นที่

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

โดยศูนย์ดูแลสุขภาพ Steno Diabetes Center ที่ Copenhagen ณ ประเทศเดนมาร์ก นับเป็นตัวอย่างโมเดลที่ประสบความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเดนมาร์กและมูลนิธิโนโว นอร์ดิสค์ ซึ่งศูนย์ฯ แห่งนี้ได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงมิติต่างๆ ในการดูแลสุขภาพอย่างพิถีพิถัน เพื่อมุ่งเน้นในการยกระดับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและการวิจัยเบาหวานเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในองค์รวม

จากรายงาน BMJ Global Health (ปี 2564) ระบุว่าในปีพ.ศ. 2603 หากประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคอ้วนคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 4.9% ของ GDP ในประเทศไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยตรงจากการรักษาสุขภาพ และค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น การสูญเสียผลผลิต (lost productivity) จากการใช้แรงงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือการขาดงานจากผู้ที่ต้องรักษาโรคอ้วน และหากลดความชุกของโรคอ้วนลง 5% จากระดับที่คาดการณ์ไว้หรือคงไว้ที่ระดับปี 2562 จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจลดลงเฉลี่ย 5.2% และ 13.2% ต่อปี ระหว่างปีพ.ศ. 2563 – 2603 ตามลำดับ

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

ศ. เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความชุกของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากปัญหาโรคอ้วนและพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยมีอัตราผู้ป่วยรายใหม่ประมาณหนึ่งแสนคนต่อปี ในปัจจุบันมีคนไทยเป็นโรคเบาหวานอยู่ประมาณ 5.2 ล้านคน หรือ 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน ในจำนวนนี้กว่า 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ขณะที่ผู้ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในไทยมีมากถึง 200 รายต่อวัน เชื่อว่าการผนึกกำลังของทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาคือทางออกที่ดีที่จะช่วยลดอัตราผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน และโรค NCDs เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับ 9 เป้าหมายการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการป้องกันควบคุมสถานการณ์โรคไม่ติดต่อในระดับโลก ภายในปี 2568

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

รศ. นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวถึงอุบัติการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 หรือมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน นำมาซึ่งความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง โดยโรคกลุ่มนี้ยังคุกคามความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปัจจุบันงบประมาณกว่าครึ่งหมดไปกับการรักษาโรค NCDs และยังสร้างผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจ ขณะที่วิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบันยังเป็นการตั้งรับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่า ‘ความอ้วนเป็นโรค ที่ต้องรักษา’ ระบบสาธารณสุขไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนหาแนวทางป้องกันก่อนเกิดโรค ควรเร่งดำเนินการนโยบายเพื่อจัดการกับโรคอ้วน และโรค NCDs อย่างจริงจัง รวมถึงวางมาตรการหรือกรอบนโยบายที่ชัดเจน อาทิ เรื่องภาษีน้ำตาล โซเดียม การบริโภคอาหารที่โภชนาการเหมาะสม รวมถึงส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างเป็นรูปธรรม การให้ความรู้ประชาชนและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี โดยคำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย

ปิดท้ายด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำบทบาทของหน่วยงานที่เน้นการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างระบบการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณ รวมถึงหากมียารักษาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในราคาย่อมเยา ก็จะช่วยให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ สปสช. ยังต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพราะต้องการแสวงหายารักษาคุณภาพดีและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาของประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น และเล็งเห็นว่าปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาโรคเบาหวานและโรคอ้วน ต้องอาศัยการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนในการดูแลตัวเอง เพื่อจะได้ควบคุมน้ำตาลให้ได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันบรรลุเป้าหมายอยู่ที่ 22% และต้องการให้ถึง 40% ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

Leave a Reply