กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และ TTA Group เปิดตัวแอปพลิเคชัน BuddyThai มุ่งช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่ ตั้งเป้าลดสถิติเยาวชนคิดฆ่าตัวตาย เพิ่มทักษะปกป้องตนเองของเด็กและเยาวชน

BuddyThai

การบูลลี่เกิดขึ้นในสังคมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะ ในยุคไซเบอร์ที่ทุกคนมีอิสระในการเสพสื่อและแสดงความคิดเห็นโดยอาจไม่เคยคิดว่าพฤติกรรมของเราสร้างผลกระทบทางจิตใจและทางกายแก่บุคคลอื่นอย่างไร จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็ก ๆ ในยุคนี้ประสบปัญหาการบูลลี่เพิ่มขึ้น มากเกินกว่าการเล่นแกล้งตามประสาเด็กทั่วไป ทั้งการ‍ล้อเลียน เหน็บแนม ปฏิเสธการเข้ากลุ่มข่มขู่ หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกาย เรื่องดังกล่าวส่งผลต่อการ‍เรียนและความรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน และหลายกรณีพบว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตทางลบไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนและวัยรุ่นราชนครินทร์ จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA GROUP พัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า BuddyThai ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนรังแกหรือโดนบูลลี่ที่โรงเรียนและโดนบูลลี่ผ่านโซเชียลมีเดีย และเพื่อบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสังคมไทย

BuddyThai

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า “ปัจจุบันปัญหาการบูลลี่กันในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกมองข้ามและยังไม่มีใครลุกขึ้นมารณรงค์แก้ไขกันอย่างจริงจัง การบูลลี่ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องร่างกายที่บาดเจ็บแต่เป็นปัญหาทางด้านจิตใจจนฝังรากลึกมากกว่า หลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์การกลั่นแกล้งต่าง ๆ ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้น มีข่าวเด็กและเยาวชนเครียด เป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย ให้ได้ยินบ่อยมาก ทั้งที่ความจริงเด็กและเยาวชนยุคใหม่เก่งและมีความสามารถสูง คำถาม คือ ทำอย่างไรถึงจะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนรังแก หรือถูกบูลลี่ ให้พวกเขามีจิตใจที่เข็มแข็งและมีทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข เราต้องการให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้มีที่ปรึกษาที่อุ่นใจอยู่ข้างกายตลอดเวลา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาที่ไว้ใจได้ ช่วยได้จริง ทาง TTA Group จึงได้ร่วมกับทางกรมสุขภาพจิตในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น BuddyThai ขึ้นมาเพื่อมุ่งช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไทยที่โดนบูลลี่โดยเฉพาะ แอปพิเคชัน BuddyThai นี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้กับเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และนักจิตวิทยาใช้ติดตามช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา จนกระทบต่อสุขภาพจิตขั้นรุนแรงได้ทันท่วงทีอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากทางกทม. ในการเป็นพื้นที่นำร่องทดลองใช้ในโรงเรียนสังกัดกทม. และจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหานี้ให้ได้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า BuddyThai จะได้รับความสนใจและมีการใช้อย่างกันอย่างแพร่หลายในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ เด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่ ให้หันมาหา บัดดี้ (BuddyThai)”

BuddyThai

นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล

นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า “การบูลลี่คือการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งคำพูดหรือพฤติกรรม ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย เกิดผลกระทบทางจิตใจรู้สึกกลัว ทุกข์ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อปี 2563 มีรายงานข่าวว่าประเทศไทยติดอันดับ 2 ในโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีการบูลลี่มากที่สุดด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้น การเฝ้าระวังและสอดส่องติดตามปัญหาดังกล่าวจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญต่อภารกิจในการลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีหลายครั้งที่นักเรียนไม่กล้าแม้แต่จะพูดคุยหรือปรึกษาเพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง เนื่องจากโดนจับตามองอยู่ตลอดเวลาจากเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนที่บูลลี่ผู้อื่น ทำให้หลายครั้งการแก้ปัญหาทำได้ล่าช้า เยาวชนบางคนเครียด เป็นโรคซึมเศร้า ไม่มีที่พึ่ง การมีแอปพลิเคชัน BuddyThai ที่สามารถใช้เป็นช่องทางการขอความช่วยเหลือและบันทึกสถานะอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กที่ต้องการเชิงรุกและนำไปสู่การลดปัญหาการบูลลี่และผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตได้”

BuddyThai

แอปพลิเคชัน BuddyThai มีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ 3‍ ประการ คือ

1. มีปุ่มขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยาได้โดยตรง เพื่อให้ เด็กและเยาวชน สามารถกดปุ่มนี้เพื่อติดต่อถึงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต หรือเลือกแชทกับนักจิตวิทยาผ่าน Facebook ของกรมสุขภาพจิต, ผ่านนักจิตวิทยาและอาสา LoveCare Station ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และผ่าน Facebook ของ BuddyThai App ก็ได้เช่นกัน

2. มีแบบประเมินตนเอง ด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) รวมถึงมีชุดความรู้และแบบฝึกหัดทักษะการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโดนบูลลี่ พร้อมมีคำแนะนำดีๆ จากนักจิตวิทยาที่เชื่อถือได้

3. มีระบบบันทึกข้อมูลอารมณ์ในแต่ละวัน เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาบันทึกอารมณ์ของตัวเองได้ทุกวันและวันละหลายๆ ครั้ง และใส่เหตุผลได้ด้วย ข้อมูลอารมณ์จะบันทึกเป็นสถิติรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้เด็กและเยาวชนเช็คได้ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตนเองมีอารมณ์หนักไปทางด้านใด เพราะอะไร โดยมีเทคนิคการจัดการอารมณ์ให้เด็กอ่านด้วยตนเอง ในขณะที่ หากพบว่าเด็กและเยาวชนคนไหนบันทึกว่า มีอารมณ์เครียด ซึมเศร้าติดต่อกันเป็นอาทิตย์และมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย ทีมadmin ก็จะ Monitor เด็กและเยาวชนคนนี้อย่างใกล้ชิด และสามารถแจ้งไปยังโรงเรียนและคุณครู หรือนักจิตวิทยาสายด่วนในการติดต่อเชิงรุกได้

BuddyThai

เฉลิมชัย มหากิจศิริ – ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ – นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล

สำหรับแอปพลิเคชั่น BuddyThai ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดตัว และนำร่องให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ดาวน์โหลดใช้งาน พร้อมแชร์ประสบการณ์ให้ทีมพัฒนาแอปพลิเคชันนำไปวางแผนปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป ภายในงานแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน “BuddyThai” อย่างเป็นทางการท่ามกลางเหล่าศิลปินและดาราคนดังที่ออกมาช่วยกันรณรงค์ให้หยุดการบูลลี่ อาทิ กรกันต์ สุทธิโกเศศ, พิจิกา จิตตะปุตตะ รวมถึงศิลปินจากสังกัด CCG ARTISTS วาสุ จงจารุกวิน, พัทฑริยา พยอม, ธนาพงศ์ ปรีชาพงค์มิตร, ปัณณวิชญ์ ศรีพงศ์อัครา, กิตติรัช กาญจนบวร, พงษ์พันธุ์ ชอบชน และนักแสดงจากซีรี่ย์เรื่องฟ้าลั่นรัก

Leave a Reply