วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต 49 ประเทศ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ คณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ศาสนิกชนชาวไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมพิธี
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดริ้วขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มายังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีนายราเชนทร์ วิศวนาถ อัรเลกัร ผู้ว่าการรัฐพิหาร เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมอบให้แก่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ดร. วิเรนทร์ กุมาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและเพิ่มพลังทางสังคม เป็นผู้อัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร มอบให้แก่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และ นายนาเคส สิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดีย เป็นผู้อัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระโมคคัลลานะ มอบให้แก่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนมณฑป
จากนั้น สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ถวายพวงมาลัยและจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีพิธีเจริญชัยมงคลคาถาตลอดพิธี มีการจัดริ้วขบวน จำนวน 23 ขบวน มีผู้เข้าร่วมขบวนกว่า 2,500 คน ได้แก่ ขบวนที่ 1 ผู้ถือป้ายนำขบวนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติไทย ขบวนที่ 2 นางฟ้าถือโคมส่องทาง ขบวนที่ 3 การแสดงภาคเหนือ ประกอบด้วย ฟ้อนขันดอก กิงกะหร่า เต้นโต กลองสะบัดชัย ขบวนที่ 4 การแสดงภาคใต้ ประกอบด้วย ตารีบุหงา รองเง็ง โนรา ขบวนที่ 5 การแสดงภาคกลาง ประกอบด้วย รำโคมบัว รำกลองยาว หัวโต กลองยาว ขบวนที่ 6 การแสดงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย ฟ้อนหางนกยูง ฟ้อนมาลัยดอกรัก ฟ้อนภูไท ขบวนที่ 7 การแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ไทย ขบวนที่ 8 การแสดงจากอินเดีย ขบวนที่ 9 พุทธศาสนิกชนวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ขบวนที่ 10 วงดุริยางค์ทหารบก ขบวนที่ 11 ธงชาติไทย ขบวนที่ 12 ธงชาติอินเดีย ขบวนที่ 13 ธงธรรมจักร ขบวนที่ 14 ธงฉัพพรรณรังสี ขบวนที่ 15 เทวดานางฟ้าถือกิ่งไม้เงินทอง ขบวนที่ 16 รถพระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ ขบวนที่ 17 ขบวนเกียรติยศ ขบวนที่ 18 รถอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ประกอบด้วย เทวดา ผู้ถือกลดขาว ผู้รับพระบรมสารีริกธาตุและผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขบวนที่ 19 รถเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขบวนที่ 20 ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม ขบวนที่ 21 จิตอาสา ขบวนที่ 22 ศาสนิกสัมพันธ์ ประกอบด้วย ศาสนิกชนชาวอินเดีย/ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และขบวนที่ 23 พุทธศาสนิกชนจากองค์การศาสนาพุทธ ซึ่งตลอดเส้นทางการเคลื่อนริ้วขบวน พุทธศาสนิกชนสามารถนั่งแถวรอรับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ พร้อมก้มลงกราบสักการะตลอดเส้นทางเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยใช้เส้นทางจากบริเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ผ่านถนนราชดำเนินใน ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถนนหน้าพระธาตุ เข้าสู่ท้องสนามหลวง และเปิดให้ศาสนิกชนเข้าสักการะได้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น.
ในส่วนภูมิภาค 3 จังหวัด เวลา 18.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะผู้บริหาร ส่วนราชการประจำจังหวัด ได้จัดแถวรอรับขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ จากท่าอากาศยานทหาร มาประดิษฐานยังมณฑป และมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยเวลา 09.00 – 20.00 น. ของทุกวัน จะเปิดให้ประชาชนได้เข้ากราบสักการะ ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5 – 8 มีนาคม 2567 ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 10 – 13 มีนาคม 2567 ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15 – 18 มีนาคม 2567 ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ ในเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ โดยแต่ละพื้นที่จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ จึงขอเชิญชวนศาสนิกชนร่วมสักการะบูชาเพื่อเสริมสิริมงคลอย่างสูงสุดในชีวิต
นอกจากนี้ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงยังมีการจัดนิทรรศการ “การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดียมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” เพื่อหลอมรวมพลังศรัทธาของศาสนิกชนชาวไทยทั่วโลก ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพระพุทธศาสนา เนื้อหานิทรรศการประกอบด้วย ความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ / การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองปิปราห์วา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย / สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล / การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต วัดสระเกศ และข้อมูลเกี่ยวกับพระธาตุที่นำมาจัดแสดงในประเทศไทย รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับพุทธประวัติจากประเทศอินเดีย และส่วนของการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา พุทธศักราช ๒๕๖๗ ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ มีการทำบุญตักบาตร เปิดศูนย์สร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ชมสาธิตการบรรยายธรรม กิจกรรมธรรมะบันเทิง โดยพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี การสาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณธรรม ชมสินค้าของดีเขตกรุงเทพมหานคร สวดเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และการแสดงภาพยนตร์ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอีกด้วย