รู้หรือไม่ คุณอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด แม้ไม่เคยสูบบุหรี่ หรือหยุดสูบบุหรี่มานานแล้ว?

Roche

ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด จึงจัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “รู้หรือไม่ คุณอาจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด แม้ไม่เคยสูบบุหรี่หรือหยุดสูบบุหรี่มานานแล้ว?” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียทางสุขภาพที่เกิดจากควันบุหรี่ และเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการป้องกัน การคัดกรอง และการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (Low Dose Computerized Tomography Scan) ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และ นายแพทย์นรินทร สุรสินธน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและป้องกัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นที่เคยมีประวัติสูบบุหรี่จัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน และผู้ดูแลผู้ป่วยมะร็งปอดซึ่งไม่เคยมีประวัติสัมผัสกับบุหรี่มาก่อน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตรวจคัดกรองและการรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น

สถิติ เผยว่าในปี พ.ศ. 2563 โรคมะเร็งปอดมีอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 2เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่สูงถึง 23,717 ราย หรือคิดเป็น 65 รายต่อวันโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ ประชาชนไทยอีกกว่า 20,395 ราย หรือคิดเป็น 56 รายต่อวันโดยเฉลี่ยยังเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด สถานการณ์ความรุนแรงของโรคดังกล่าวในประเทศไทยถือว่าอยู่อันดับที่ 18 ของโลก เนื่องจากระยะของมะเร็งปอดที่เข้ารับการรักษามีผลโดยตรงต่อโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย อนึ่ง สัดส่วนการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นในประเทศไทยยังคงต่ำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งกำหนดให้การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (Low dose CT scan) เป็นแนวทางมาตรฐานในการคัดกรองมะเร็งปอด ดังนั้น ความท้าทายในการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทยจึงอยู่ที่การคัดกรองผู้มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด โดยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่ผลลัพธ์การรักษาจะออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ

Roche

ประชาชนไทยจำนวนมากยังคงขาดความตระหนักรู้ด้านการคัดกรองโรคมะเร็งปอด ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดในระยะสุดท้ายซึ่งมักมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “หากเจอมะเร็งปอดในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี เพียง 0-10% เท่านั้น ระยะที่ 3 หรือระยะลุกลามเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี อยู่ที่ 13-36% แต่ถ้าเราเจอมะเร็งปอดระยะ 1 หรือ 2 ซึ่งก็คือ ‘ระยะเริ่มต้น’ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี สูงถึง 53-92% แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยตรวจพบมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นเพียงแค่ 15% เท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ได้แก่ สัมผัสกับควันบุหรี่หรือสารเคมีก่อมะเร็ง มีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด เคยมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดอื่นหรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับปอดมาก่อน จึงควรใส่ใจสัญญาณเตือนด้านสุขภาพ หากสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจคัดกรองมะเร็งปอด เช่น เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอกตลอกเวลา รู้สึกปวดเมื่อกลืน ปอดติดเชื้อบ่อย เป็นต้น”

ในผู้ที่มีสุขภาพดีก็อาจมีแนวโน้มว่ที่จะเกิดโรคมะเร็งปอดได้ เนื่องจากสาเหตุที่นำไปสู่โรคนี้มีหลายประการ ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งอาจมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ที่ผิดปกติของยีน (gene) ในร่างกายของแต่ละคนก็ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน โดยปัจจัยทางพันธุกรรมที่กล่าวมานี้มีส่วนให้เกิดมะเร็งปอดราว 20% เท่านั้น แต่ปัจจัยหลักอีก 80% กลับมาจากปัจจัยด้านพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม เช่น การสูบบุหรี่จัดเกินกว่า 20 packs-year การประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมผลิตฉนวนกันความร้อน ย่อมมีโอกาสที่จะสูดดมแร่ใยหินหรือสารแอสเบสตอส (Asbestos) นิเกิล โครเมียม เข้าไปในปริมาณมาก รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นละออง PM 2.5 ขับขี่มอเตอร์ไซค์ จุดธูปไหว้พระ เป็นต้น ดังนั้น หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังเผชิญความเสี่ยงอยู่ ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำ และปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ

Roche

ภายในงาน ยังมีผู้ป่วยมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตรวจคัดกรองและการรักษามะเร็งปอดระยะเริ่มต้นถึง 2 ท่าน ได้แก่ คุณอรุณ เทพแก้ว ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 2 เพศชาย อายุ 68 ปี ซึ่งมีประวัติเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ต่อเนื่อง 2 ซองต่อวัน เป็นเวลา 13 ปี และดื่มเหล้าตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แต่ก็เลิกมาแล้วถึง 35 ปี จนกระทั่งทราบว่าเป็นมะเร็งปอดเมื่อปีที่แล้ว “ผมไปพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรัง ต่อมาจึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ทำให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีและผลการรักษาก็ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ทุกวันนี้สามารถกลับใช้ชีวิตและช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ ผมตั้งใจว่าต่อจากนี้ไปจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงลดพฤติกรรมเสี่ยงและหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การลุกลามของโรค”

Roche

ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ คุณยศ กุศลมโนสุข ซึ่งเป็นผู้ดูแลคุณแม่ คุณคิ่มเตียง กุศลมโนสุข ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 1 เพศหญิง อายุ 72 ปี ซึ่งไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่หรือสัมผัสกับควันบุหรี่มือสองมาก่อน แต่มีโอกาสตรวจพบโรคดังกล่าวต้้งแต่ระยะเริ่มต้น “แม้จะไม่เคยสูบบุหรี่และไม่มีสัญญาณอันตรายใด ๆ มาก่อนเลย แต่สมัยสาว ๆ คุณแม่ของผมชอบไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ นอกจากนี้ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ท่านยังเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม จนกระทั่งเมื่อปี 2564 ท่านก็ไปตรวจสุขภาพประจำปีตามปกติ สิ่งที่ต่างจากทุกครั้งก็คือ คราวนี้แพทย์แนะนำให้ลองตรวจคัดกรองด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือที่เรียกว่า Low dose CT Scan ด้วย เพราะท่านมีปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่บ่งชี้ว่า ท่านอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด จากนั้น เมื่อได้รับคำวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นมะเร็งปอด ท่านก็เข้าสู่กระบวนการรักษาทันที พอมองย้อนกลับไปผมรู้สึกว่าโชคดีมาก ๆ ที่ไม่นิ่งนอนใจและแนะนำให้คุณแม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะเมื่อเทียบกับตอนที่รักษามะเร็งลำไส้ระยะลุกลามเมื่อสิบกว่าปีก่อน คราวนี้ทั้งผมและท่านรู้สึกเบาใจมากกับการรับมือมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น เนื่องจากมีโอกาสรักษาหายขาดสูง”

Roche

ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดแบบต่างๆ อยู่ 3 วิธี ได้แก่ 1) การเอกซเรย์ทรวงอก หรือ Chest x-ray 2) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan และ 3) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือ Low dose CT Scan ทั้งนี้ นายแพทย์นรินทร สุรสินธน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและป้องกัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เปรียบเทียบข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละวิธี “การเอกซเรย์ทรวงอก หรือ Chest x-ray ซึ่งมักรวมอยู่ในรายการตรวจสุขภาพประจำปี ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะคัดกรองเซลล์มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่มีขนาดเล็ก ส่วนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan จะมีความแม่นยำสูงกว่ามาก แต่เป็นวิธีที่ต้องรอคิวนาน ในบางโรงพยาบาล บุคลากรด้านรังสีแพทย์และเครื่องมือยังมีอยู่จำกัด นอกจากนี้ ผู้เข้าตรวจได้รับรังสีในปริมาณสูงและอาจรู้สึกร้อนวูบวาบไปทั่วร่างกายจากการฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดํา ส่วนวิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือ Low dose CT Scan นั้น มีความแม่นยำกว่าการเอกซเรย์ทรวงอกถึง 6 เท่า ส่งผลให้พบมะเร็งปอดได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดลงได้ 20% ดังนั้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำจึงเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ”

แนวปฏิบัติของ National Comprehensive Cancer Network (NCCN) ระบุว่ากลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และมีประวัติการสูบบุหรี่มากกว่า 20 packs-year ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดประจำปีด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ ในขณะที่ผู้ที่อาจมีปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ที่ใส่ใจสุขภาพก็สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อขอเข้ารับตรวจคัดกรองด้วยวิธีดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะมะเร็งปอดถือเป็นภัยสุขภาพที่คุกคามร่างกายอย่างเงียบ ๆ และอาจพรากคนที่คุณรักไปอย่างไม่มีวันกลับ ดังนั้น การตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่ผลลัพธ์การรักษาจะเป็นไปในทางที่น่าพึงพอใจ และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้

Leave a Reply

error: Content is protected !!