วธ. เปิดวัด เชิญชวนนักท่องเที่ยวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่องเที่ยวยามค่ำคืนเสริมสิริมงคล ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

กระทรวงวัฒนธรรม

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จับมือจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเส้นทางบุญ เชิญชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสมนต์เสน่ห์เมืองล้านนาในมิติทางศาสนา พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม โครงการเปิดวัด สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่องเที่ยวยามค่ำคืน เสริมสิริมงคล เยี่ยมยลคุณค่าทางวัฒนธรรม ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

กระทรวงวัฒนธรรม

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย “ THACCA” (Thailand Creative Content Agency) เพื่อผลักดัน 8 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะด้านเฟสติวัลและการท่องเที่ยว และเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินการขับเคลื่อน Soft Power ด้านเฟสติวัลและด้านท่องเที่ยว ภายใต้เทศกาล Thailand Winter Festivals ของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Soft Power ของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนโดยรอบวัดรวมทั้งเป็นการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าวัด เรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยกรมการศาสนา ได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการเปิดวัดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่องเที่ยวยามค่ำคืน ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติศาสนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม 2567 ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเปิดพระอุโบสถ พระวิหาร และเสนาสนะสำคัญภายในวัดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าว ยังเป็นการส่งเสริมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ควบคู่กับการได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา สืบสานวิถีพุทธ เรียนรู้วัฒนธรรมและวีถีชีวิตผ่านการชมทัศนียภาพของวัดเจดีย์หลวงวรวิหารที่มีประวัติยาวนานและมีความงดงามทั้งในช่วงกลางวันและช่วงค่ำคืน

กระทรวงวัฒนธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ภายในงานดังกล่าว ได้จัดกิจกรรมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญภายในวัดในตอนค่ำ จำนวน ๔ จุด ได้แก่ จุดที่ 1 พระธาตุเจดีย์หลวง จุดที่ 2 พระอัฎฐารส พระประธานในพระวิหาร ปางประธานอภัย ตามศิลปะแบบเชียงใหม่ จุดที่ 3 เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง จุดที่ 4 กุมภัณฑ์ ผู้รักษาเสาอินทขิล นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโดยเครือข่ายทางศาสนาและวัฒนธรรม ได้แก่ การฟ้อนเทียนบูชาพระเจดีย์หลวง การแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ การแสดงกลองล้านนา มหกรรมการขับซอพื้นบ้าน และมหกรรมการแสดงศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและศาสตราวุธพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือตามแนวคิด Soft Power ชูเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสร้างการรับรู้นำไปสู่การพัฒนาและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ชุมชนคุณธรรม สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการสืบสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงามของท้องถิ่น

กระทรวงวัฒนธรรม

สำหรับ พระธาตุเจดีย์หลวง เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญของวัด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระธาตุโบราณที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ คือ สูงประมาณ 80 เมตร เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 โดยในสมัยพญาติโลกราช โปรดให้ปรับรูปทรงเป็น แบบโลหะปราสาทของลังการูปลักษณ์ทรงเจดีย์แบบพุกาม ดัดแปลงซุ้ม ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำ 28 เชือก รายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวง นอกจากนี้ ซุ้มพระธาตุเจดีย์หลวงด้านทิศตะวันออก ยังเคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย เป็นเวลายาวนานถึง 80 กว่าปี ส่วนที่ซุ้มด้านทิศเหนือเป็นที่ประดิษฐาน “พระคงหลวง” อีกหนึ่งพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่เริ่มสร้างองค์พระธาตุเจดีย์หลวงมาจนถึงปัจจุบัน

กระทรวงวัฒนธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเปิดวัด สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่องเที่ยวยามค่ำคืน เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Soft Power ของรัฐบาล ภายใต้เทศกาล Thailand Winter Festivals ของรัฐบาล ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของวัด ศาสนสถาน องค์กรและพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในมิติทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ พร้อมรับการท่องเที่ยว สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่จากการเดินทางของนักท่องเที่ยว รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ผ่านการท่องเที่ยววัด ศาสนสถาน วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะการกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ประจำวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งถือเป็น Land Mark ที่ห้ามพลาด

You may also like

Leave a Reply