ในการประชุม Global Mobile Broadband Forum (MBBF) 2022 นาย เดวิด หวัง กรรมการบริหารและประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชันไอซีที ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘ก้าวสู่ยุค 5.5G เพื่อรากฐานแห่งอนาคต’ โดยเขาได้เผยถึงความร่วมมือระหว่างพันธมิตรส่งผลให้อุตสาหกรรมรุดหน้าอย่างมีนัยสำคัญและพร้อมก้าวสู่ยุค 5.5G เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เขาจุดประกายให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อก้าวสู่ยุค 5.5G ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสร้างโลกอัจฉริยะที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน
เมื่อการเปลี่ยนสู่โลกอัจฉริยะมาถึงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่คาดการณ์ไว้จะทำให้ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพิ่มขึ้น เป้าหมายต่อไปที่เราต้องบรรลุบนเส้นทางสู่โลกอัจฉริยะคือเทคโนโลยี 5.5G ที่มอบประสบการณ์การเชื่อมต่อระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที (10 Gbit/s) รองรับการเชื่อมต่อหลายแสนล้านรายการและรองรับคลาวด์ Native Intelligence
นายเดวิด หวัง กล่าวย้ำว่า สองปีหลังจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มพันธมิตรในอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี 5.5G รุดหน้าเป็นอย่างมาก รวมถึงมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในประเด็นสำคัญ 3 ข้อที่มีผลต่อความก้าวหน้าของ 5.5G
ประการแรก มีการกำหนดมาตรฐานการใช้งาน 5.5G และมีความคืบหน้าในการดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ 5.5G ไม่ได้เป็นเพียงวิสัยทัศน์อีกต่อไป
ประการที่สอง อุตสาหกรรมได้สร้างความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับ 5.5G ด้วยแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่พิเศษและเทคโนโลยี ELAA สามารถมอบประสบการณ์การเชื่อมต่อระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที (10 Gbit/s) ได้
ประการที่สาม อุตสาหกรรมมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับภูมิทัศน์ของ Internet of Things (IoT) โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี IoT บน 5.5G ที่โดดเด่นถึง 3 ด้าน ได้แก่ NB-IoT, RedCap และ IoT แบบพาสซีฟซึ่งจะรองรับการเชื่อมต่อ IoT จำนวนมาก
นายเดวิด หวัง เน้นว่า “อุตสาหกรรมการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เทคโนโลยี 5.5G ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในอนาคตเราต้องรับมือกับ 5 ปัจจัยสำคัญในการพัฒนา 5.5G อันได้แก่ มาตรฐานการใช้งาน, สเปกตรัม, ผลิตภัณฑ์, อีโคซิสเต็มและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่ยุค 5.5G อย่างมั่นคงเพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่ดีกว่า”
ประการแรก กำหนดมาตรฐานการใช้งานและส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ
การกำหนดมาตรฐานการใช้งานช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สายและปูทางให้อุตสาหกรรม 5.5G รุดหน้าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เราต้องทำให้แน่ใจได้ว่าการดำเนินการตามข้อกำหนด Release 18 จะต้องเกิดขึ้นภายในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2567 ตามแผนที่วางไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย 5.5G มากขึ้น 10 เท่า ในส่วนของ Release 19 และข้อกำหนดอื่น ๆ ในอนาคต เราควรหารือร่วมกันระหว่างการปรับปรุงมาตรฐาน 5.5G เพื่อสำรวจว่า 5.5G ควรมีคุณสมบัติใดบ้าง สำหรับรองรับบริการและสถานการณ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานและผลักดันศักยภาพสูงสุด
ประการที่สอง เตรียมสเปกตรัมเพิ่มเติมสำหรับแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่พิเศษ
เราควรบริหารการใช้งานช่วงความถี่ที่ต่ำกว่า 100 GHz อย่างเต็มที่เพื่อสร้างแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่พิเศษเพื่อรองรับ 5.5G โดยมี mmWave เป็นย่านความถี่หลักสำหรับ 5.5G ผู้ให้บริการเครือข่ายจะต้องได้รับคลื่นความถี่มากกว่า 800 MHz จากสเปกตรัมนี้เพื่อสร้างประสบการณ์การเชื่อมต่อระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที (10 Gbit/s) โดยความถี่ 6 GHz เป็นย่านความถี่กว้างพิเศษที่มีศักยภาพเพียงพอในการรองรับ 5.5G และเมื่อความถี่ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนให้เป็นคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ในการประชุม WRC-23 ก็มีแนวโน้มว่าประเทศอื่น ๆ จะต้องประมูลคลื่นความถี่ 6 GHz ด้วย นอกจากนี้เรายังสามารถปรับเปลี่ยนความถี่ 6 GHz ให้เป็นแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่พิเศษสำหรับ 5.5G ได้
ประการที่สาม เตรียมรองรับเทคโนโลยี 5.5G ด้วยเครือข่าย, อุปกรณ์, และชิปที่พร้อมรองรับการใช้งาน
ทั้งเครือข่ายและอุปกรณ์ต้องได้รับการอัปเกรดเพื่อรองรับการเชื่อมต่อระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยมาพร้อมเทคโนโลยี ELAA ที่สามารถรองรับเสาอากาศมากกว่า 1,000 ชุด เหมาะสำหรับย่านความถี่กลางและความถี่สูง และมาพร้อมเทคโนโลยี Massive MIMO ที่รองรับความจุถึง 128T นอกจากนี้ การพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับชิปและอุปกรณ์ 5.5G ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ชาญฉลาดมากขึ้น สามารถรองรับ 3T8R หรือมากกว่า และสามารถรองรับผู้ให้บริการเครือข่ายได้มากกว่าสี่ราย
ประการที่สี่ ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนอีโคซิสเต็ม 5.5G ให้เติบโต
อีโคซิสเต็มที่ก้าวหน้าจะตอบสนองความต้องการด้านดิจิทัลได้ดีขึ้นในทุกสถานการณ์ ในการสร้างอีโคซิสเต็ม IoT ที่รองรับ 5.5G ผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้จำหน่ายอุปกรณ์จะต้องวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับเครือข่าย 5.5G สร้างการเชื่อมต่อไร้ที่ติระหว่างผู้คนและสิ่งของ ในขณะเดียวกันผู้จำหน่ายอุปกรณ์ต้องปรับต้นทุนและเพิ่มความยืดหยุ่นของอุปกรณ์เพื่อรองรับการใช้งานในสถานการณ์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ นักพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมและนักพัฒนาแอปพลิเคชันจะต้องพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ที่รองรับเทคโนโลยีนี้อีกด้วย
ประการที่ห้า ก้าวไปข้างหน้าเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5.5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อข้อกำหนดการใช้งาน, สเปกตรัม, ผลิตภัณฑ์, และอีโคซิสเต็มเติบโตเต็มที่ ก็ถึงเวลาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5.5G ในสถานการณ์ต่าง ๆ การปฏิสัมพันธ์ผ่านเซ็นเซอร์หลากหลายประสาทสัมผัสจะเปลี่ยนวิธีที่เราสื่อสาร ยานพาหนะที่เชื่อมต่อได้แบบอัจฉริยะจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญอันดับ 3 ในการติดต่อสื่อสารแบบไร้สายและกลายเป็นที่นิยม ในขณะที่การเชื่อมต่ออัจฉริยะในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะทำให้การรับส่งข้อมูลทั่วถึงกันมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรม มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้งและทำให้วิสัยทัศน์สู่โลกอัจฉริยะมีความชัดเจนมากกว่าที่เคย ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันเพื่อสำรวจความเป็นไปได้และผลักดันการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5.5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวเปิดงาน Global Mobile Broadband Forum 2022 ครั้งที่ 13 ว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานสำหรับแวดวงอุตสาหกรรมไอซีทีระดับโลก Global Mobile Broadband Forum 2022 ครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญของภาคเอกชนและภาครัฐในการร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ต่อการขับเคลื่อนประเทศและภาคอุตสาหกรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และผลักดันให้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ด้วยการดำเนินนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ทั้งด้านการ “ส่งเสริมและลงทุน” โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และด้าน “การเตรียมความพร้อมเรื่องกำลังคนด้านดิจิทัล” ผมเชื่อมั่นว่างานประชุมสัมมนาในวันนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม และจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกันอย่างคลอบคลุมและยั่งยืน”
นอกจากนี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ยังได้จับมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัวสมุดปกขาวสำหรับการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทย ในหัวข้อ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ขุมพลังดิจิทัลแห่งอาเซียน (Transform Thailand Into ASEAN Digital Powerhouse)” ภายในงานครั้งนี้ โดยหัวเว่ยได้ร่วมมือกับบริษัทโรแลนด์ เบอร์เกอร์ เพื่อจัดทำสมุดปกขาวฉบับดังกล่าวจากการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกองค์กรภาคเอกชนและภาครัฐกว่า 40 แห่ง ในภาคอุตสาหกรรมด้านทักษะดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยส่งเสริมด้านการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะดิจิทัลเชิงเทคนิคอย่างครอบคลุม ทั้งนี้ รายละเอียดในสมุดปกขาวจะประกอบไปด้วยข้อมูลเชิงลึกที่เรียบเรียงอย่างเป็นระบบในด้านเทรนด์ดิจิทัล ทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการ และช่องว่างระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทานของบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อส่งมอบคำแนะนำสำหรับการวางนโยบายที่ยั่งยืนเกี่ยวกับแผนด้านทักษะบุคลากร แนวทางการพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงแผนปฏิบัติการต่าง ๆ เอกสารฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นสนับสนุนคุณค่าทางสังคมอย่างต่อเนื่องของหัวเว่ย ในแง่การพัฒนาทักษะบุคลากรและการสนับสนุนอีโคซิสเต็มของการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย หัวเว่ยไม่เพียงมุ่งมั่นที่จะเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรด้านดิจิทัลในปัจจุบันสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง แต่ยังช่วยรับมือปัญหาด้านการขาดบุคลากรดิจิทัลรุ่นใหม่ด้วยการเตรียมตัวบุคลากรดิจิทัลรุ่นใหม่ในไทย ท่ามกลางช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียนอย่างรวดเร็ว
หัวเว่ย ได้ร่วมกับ สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) และ Global TD-LTE Initiative (GTI) เปิดฉาก Global Mobile Broadband Forum 2022 รวบรวมผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สาย ผู้นำอุตสาหกรรมแนวดิ่ง และพันธมิตรอีโคซิสเต็มจากทั่วโลกร่วมหารือกลยุทธ์ผลักดัน 5G ให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์และถกประเด็นในหัวข้ออื่น ๆ เช่น การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยีอัจฉริยะและวิวัฒนาการ 5G ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/en/events/mbbf2022