สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ได้จัดโครงการ Creative Startup 2022 แสดงผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์สู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก แอปฯติดตามพฤติกรรมสุขภาพผ่านระบบ blockchain Art Toy จากพลาสติกรีไซเคิล และอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมการบรรยายพิเศษ AADx Talk ในหัวข้อ Creative: Move the world จากผู้เชี่ยวชาญด้านงานสร้างสรรค์หลากหลายท่าน ทั้งนี้ สจล. มุ่งมั่นที่จะจัดการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดสู่การก้าวไปเป็นผู้ประกอบการในอนาคต เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความรู้ด้านนวัตกรรม สู่การเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาประเทศ
ผศ. ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดี คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้วยการจัดโครงการ Creative Startup 2022 เวทีแสดงผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์สู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยโครงการนี้สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันกับนักศึกษาต่างคณะ เพื่อแลกเปลี่ยนทักษะความรู้ สร้างสรรค์ผลงานจากความคิดนอกกรอบ สร้างเครือข่ายนักศึกษาให้พร้อมออกไปใช้ชีวิต เข้าสู่สังคมการทำงานในอนาคต
โครงการ Creative Startup 2022 ได้รับการสนับสนุนจาก Educational Instituted Support Activity (EISA) โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (ThaiBev) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้ริเริ่มแนวคิดและเรียนรู้ในการทำ Start up สู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ส่งมอบองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจ Start up ซึ่งโครงการ Creative Stratup 2022 ในครั้งนี้ มีนักศึกษาสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 84 คน แบ่งเป็น 12 ทีม ซึ่งผ่านการคัดเลือกผลงานอย่างเข้มข้น โดยมีเหล่าเมนเทอร์และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำเพื่อดึงศักยภาพทั้งในด้านการออกแบบและการทำธุรกิจไปพร้อมๆ กัน จนสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบนวัตกรรมสร้างสรรค์และเหลือเข้ารอบตัดสิน หรือ Pitching Day ซึ่งทำให้ได้ 8 ไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่
1. Wooden Woo วัสดุชนิดใหม่จากธรรมชาติเพื่อธรรมชาติ ออกแบบเพื่อใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติก ขึ้นรูปโดยปราศจากสารเคมี 100%
2. Art Design เปลี่ยนสิ่งที่เป็นข้อด้อย เช่น สายไฟพันรุงรังยุ่งเหยิง ให้เป็นสิ่งที่ดึงความสนใจ สร้างชีวิตใหม่ให้กับทัศนวิสัยเมือง ภายใต้แนวคิด “เมืองนี้ไม่เหงาอีกต่อไป”
3. GLISTEN พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นวัสดุที่สวยงาม ทนทาน ใช้งานได้จริง ผ่านการออกแบบ เชิง Experimental Design
4. REPLAY อุปกรณ์ติดตามศักยภาพด้านกีฬา เพื่อให้นักกีฬาได้มีแนวทางพัฒนาและฝึกฝนตนเองให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและแต่ละทีม
5. FITDIT (dApp tracking for health) แอปฯ ติดตามพฤติกรรมสุขภาพผ่านระบบ blockchain ช่วยเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ
6. PILLAR Drugs Dispenser เครื่องจ่ายยาและอาหารเสริมที่เป็นมิตรกับทุกคน ช่วยจัดเก็บยาให้เป็นระเบียบ พกพาง่าย พร้อมมีแจ้งเตือนเวลาทานยาผ่านแอพลิเคชัน
7. REPLAS Art Toy จากพลาสติกรีไซเคิล เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก พร้อมสร้างเรื่องราวของชิ้นงานให้น่าสนใจ
8. DSM1 ผลงานที่มีแนวคิดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย Duck Sound ผ่านอุปกรณ์ multi-Function
หลังจากที่ทั้ง 8 ทีม นำเสนอผลงานในรอบตัดสิน หรือ Pitching Day แล้ว จะเหลือผู้ชนะเลิศ 5 ทีม ผลปรากฎว่าทีมที่ชนะเลิศ มีดังนี้ ทีม NIRANAN, ทีม Start, ทีม US (อัส), ทีม XAVAGE STUDIO และทีม YAYAYA (ยาอย่าย่า) โดยทั้ง 5 ทีม จะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 100,000 บาท เพื่อจัดตั้งบริษัท และทําต้นแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป และยังมีโอกาสต่อยอดทุนกับสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในอนาคต
นอกจากนี้ ภายในงาน Creative Startup 2022 – Pitching Day ยังจัดเสวนา AADx Talk ในหัวข้อ Creative: Move the World เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายไอเดียเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สจล. ผศ. ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดี คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. คุณวัลลภา จันทรศรี CEO WinWin และ ศิลปินฝึกหัดสังกัด LOVEis Entertainment คุณพาฝัน สิงห์สุวรรณ จาก Three Studio&Workshop คุณธาวิน หาญบุญเศรษฐ จาก WARchitect ดร.นนท์ อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ Depa ดร.พยัต วุฒิรงค์ พ่อมดนวัตกรรม Global Head of Innovation, Most Valued Business ดร.อริญชยา ตรีคุณประภา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง และดีไซน์ไดเรกเตอร์ แบรนด์ QUALY บริษัท นิวอาไร จำกัด และ Mr. Martin Venzky-Stalling ที่ปรึกษาอาวุโส CMU SteP
ด้าน รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การต่อยอดนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การสร้างสตาร์อัพ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายเด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก และถือเป็นแนวทางที่ดีในการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปในแนวทาง Global Citizen คือ การปั้นนักศึกษาให้พร้อมทำงานได้จริง สามารถพัฒนาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นนำเพื่อจับมือกับภาคธุรกิจ และในไม่ช้าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้นักศึกษาทุกคนได้เริ่มพัฒนาไอเดียต่อยอดนวัตกรรมตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เพื่อฝึกทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ และเป็นไปในแนวทางของ Global Innovation ซึ่งเป็นการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ทอัพของนักศึกษา ซึ่ง สจล. วางแผนจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ตามนโยบาย Quick Win 22 ข้อของ สจล.”
ทั้งนี้ โครงการ Creative Startup 2022 Pitching Day และ AADx Talk “Creative: Move the world” จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ https://www.facebook.com/kmitlofficial