วศ.หนุนยกระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ชี้ช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน วอนผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดสัมมนา ฯ ในงาน Thailand LAB 2023 พร้อมนำเสนอผลงานเด่นตัวอย่างทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ “Mercury (Hg) in water” แสดงความสามารถของห้องปฏิบัติการไทย ทำให้ปรอทที่ความเข้มข้นต่ำมากๆ มีความคงตัวสูงขึ้น สามารถใช้งานได้นานถึง 6 เดือน
นางสาวดวงกมล เชาวน์ศรีหมุด ผู้อำนวยการกองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงาน เพราะต้องเจอกับความเสี่ยงทุกวันทั้งด้านสารเคมีร้ายแรง และอันตรายจากการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการอย่างยั่งยืน และพัฒนาสู่มาตรฐานห้องปฏิบัติการวิจัยในระดับสากล ในปี 2565 ที่ผ่านมา วศ. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบ Peer Evaluation ขึ้น เพื่อพัฒนาและเสนอแนวทางในการใช้ห้องปฏิบัติการอย่างปลอดภัย ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสร้างจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดย วศ. ได้ดำเนินการเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบ Peer Evaluation เพื่อนำไปสู่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ESPReL checklist ซึ่งมีองค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ การบริหารระบบการจัดการความปลอดภัย ระบบการจัดการสารเคมี ระบบการจัดการของเสีย ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และเครื่องมือ ระบบการป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และการจัดการข้อมูลและเอกสาร
“มาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ESPReL checklist เป็นการตรวจประเมินระดับหนึ่ง ที่ยังไม่ถึงขั้นการตรวจประเมินเพื่อขอมาตรฐาน ISO ต่าง ๆ โดยเป็นเสมือนเพื่อนตรวจเพื่อนที่อาศัยความเชี่ยวชาญซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ESPReL checklist เริ่มมีการนำมาใช้เมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ โดย วช.ให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องดังกล่าว ในระยะแรกมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยในกลุ่มห้องปฏิบัติการในสถาบันการศึกษา และเมื่อปีที่ผ่านมา วช. ต้องการขยายแนวคิดไปสู่ห้องปฏิบัติการอื่น ๆ จึงลงนามความร่วมมือและให้ทุนสนับสนุน วศ. ในการดำเนินการจัดอบรม-สัมมนาห้องปฏิบัติการให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และได้ดำเนินการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบ Peer Evaluation ให้ห้องปฏิบัติการในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล”
นางสาวดวงกมล กล่าวอีกว่า คนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการต้องเจอสารเคมีเยอะมาก จึงต้องตระหนักถึงอันตรายที่รอบ ๆ ตัว และจำเป็นต้องมีวิธีบริหารจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอยากเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงผู้บริหารห้องปฏิบัติการ หรือผู้นำองค์กรที่มีห้องปฏิบัติการอยู่ในสังกัด เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับชีวิตของผู้ปฏิบัติงานรวมถึงเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อย่างไรก็ดีในวันที่ 6 กันยายนนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการตาม ESPReL checklist ในรูปแบบ Peer Evaluation” ขึ้นในงาน Thailand LAB International 2023 ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับงาน Bio Asia Pacific 2023 และ งาน FutureCHEM INTERNATIONAL 2023 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นอกจากนี้ในงานดังกล่าว วศ. ยังร่วมจัดกิจกรรมการสัมมนารวมถึงนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ การสัมมนา “การจัดการความเสี่ยงของผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (PTPs)” เพื่อให้ห้องปฏิบัติการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนด ISO 17043 ที่มีการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่เรียบร้อยแล้ว และสามารถเตรียมตัวยื่นขอการรับรองได้อย่างถูกต้อง การสัมมนา “การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัสเพื่อขอการรับรอง ISO 17025 : 2017” ซึ่งจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมของหน่วยงานรับรอง โดยการรับรองดังกล่าวจะ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับห้องปฏิบัติการฯ รองรับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านอาหารที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับนิทรรศการมีทั้งนำเสนอบทบาทของ วศ. โดย กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ ในฐานะหน่วยรับรองระบบงานของประเทศไทย ที่ให้การรับรองใน 3 ขอบข่ายงานคือ การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐานISO/IEC 17025 การรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 และการรับรองผู้ผลิตวัสดุอ้างอิงตาม ISO17034 ส่วนกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ นำเสนอการพัฒนาตัวอย่างทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ในรายการของ Mercury (Hg) in water หรือปรอทในน้ำ ซึ่งปรอทเป็นโลหะที่มีพิษสูงมาก หน่วยงานด้านมาตรฐานทั่วโลกได้มีการกำหนดวิธีมาตรฐานสำหรับตรวจวัด และการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการผ่านการทดสอบความชำนาญ เพื่อทวนสอบความใช้ได้ของผลการวัด แต่เนื่องจาก ปรอทที่มีความเข้มข้นต่ำมากๆ จะมีความคงตัวต่ำ สามารถระเหยได้ง่าย วศ. จึงร่วมกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ พัฒนาปรอทในน้ำ ที่มีระดับความเข้มข้นต่ำมาก ๆ ให้มีความคงตัวได้นานขึ้น โดยมีอายุการใช้งานได้นานถึง 6 เดือน
ขณะที่กองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ นำเสนอการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน : ผลิตภัณฑ์วัสดุสัมผัสอาหาร จากธรรมชาติ ได้แก่ ภาชนะกาบหมาก หลอดกระจูด และหลอดราโพ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน BCG และนโยบายลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบ Single-use ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนากระบวนการหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดเฉพาะผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งพิจารณาถึงเกณฑ์กำหนดด้านความปลอดภัย เช่น สารปนเปื้อน ความชื้นและจุลินทรีย์ คุณลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การรั่วซึม ความคงรูป มีกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดสุขลักษณะอนามัย และมีการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
งาน Thailand LAB International 2023งาน Bio Asia Pacific 2023 และ งาน FutureCHEM INTERNATIONAL 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 กันยายน 2566 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา