วศ.หนุนยกระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ พร้อมนำเสนอผลงานเด่น ในงาน Thailand LAB 2023

กรมวิทยาศาสตร์บริการ

วศ.หนุนยกระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ชี้ช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน วอนผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดสัมมนา ฯ ในงาน Thailand LAB 2023 พร้อมนำเสนอผลงานเด่นตัวอย่างทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ “Mercury (Hg) in water” แสดงความสามารถของห้องปฏิบัติการไทย ทำให้ปรอทที่ความเข้มข้นต่ำมากๆ มีความคงตัวสูงขึ้น สามารถใช้งานได้นานถึง 6 เดือน

นางสาวดวงกมล เชาวน์ศรีหมุด ผู้อำนวยการกองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงาน เพราะต้องเจอกับความเสี่ยงทุกวันทั้งด้านสารเคมีร้ายแรง และอันตรายจากการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการอย่างยั่งยืน และพัฒนาสู่มาตรฐานห้องปฏิบัติการวิจัยในระดับสากล ในปี 2565 ที่ผ่านมา วศ. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบ Peer Evaluation ขึ้น เพื่อพัฒนาและเสนอแนวทางในการใช้ห้องปฏิบัติการอย่างปลอดภัย ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสร้างจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
กรมวิทยาศาสตร์บริการโดย วศ. ได้ดำเนินการเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบ Peer Evaluation เพื่อนำไปสู่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ESPReL checklist ซึ่งมีองค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ การบริหารระบบการจัดการความปลอดภัย ระบบการจัดการสารเคมี ระบบการจัดการของเสีย ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และเครื่องมือ ระบบการป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และการจัดการข้อมูลและเอกสาร

“มาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ESPReL checklist เป็นการตรวจประเมินระดับหนึ่ง ที่ยังไม่ถึงขั้นการตรวจประเมินเพื่อขอมาตรฐาน ISO ต่าง ๆ โดยเป็นเสมือนเพื่อนตรวจเพื่อนที่อาศัยความเชี่ยวชาญซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ESPReL checklist เริ่มมีการนำมาใช้เมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ โดย วช.ให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องดังกล่าว ในระยะแรกมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยในกลุ่มห้องปฏิบัติการในสถาบันการศึกษา และเมื่อปีที่ผ่านมา วช. ต้องการขยายแนวคิดไปสู่ห้องปฏิบัติการอื่น ๆ จึงลงนามความร่วมมือและให้ทุนสนับสนุน วศ. ในการดำเนินการจัดอบรม-สัมมนาห้องปฏิบัติการให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และได้ดำเนินการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบ Peer Evaluation ให้ห้องปฏิบัติการในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล”

กรมวิทยาศาสตร์บริการ

นางสาวดวงกมล กล่าวอีกว่า คนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการต้องเจอสารเคมีเยอะมาก จึงต้องตระหนักถึงอันตรายที่รอบ ๆ ตัว และจำเป็นต้องมีวิธีบริหารจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอยากเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงผู้บริหารห้องปฏิบัติการ หรือผู้นำองค์กรที่มีห้องปฏิบัติการอยู่ในสังกัด เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับชีวิตของผู้ปฏิบัติงานรวมถึงเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ดีในวันที่ 6 กันยายนนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการตาม ESPReL checklist ในรูปแบบ Peer Evaluation” ขึ้นในงาน Thailand LAB International 2023 ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับงาน Bio Asia Pacific 2023 และ งาน FutureCHEM INTERNATIONAL 2023 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา  

กรมวิทยาศาสตร์บริการ

นอกจากนี้ในงานดังกล่าว วศ. ยังร่วมจัดกิจกรรมการสัมมนารวมถึงนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ การสัมมนา “การจัดการความเสี่ยงของผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (PTPs)” เพื่อให้ห้องปฏิบัติการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนด ISO 17043 ที่มีการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่เรียบร้อยแล้ว และสามารถเตรียมตัวยื่นขอการรับรองได้อย่างถูกต้อง การสัมมนา “การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัสเพื่อขอการรับรอง ISO 17025 : 2017” ซึ่งจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมของหน่วยงานรับรอง โดยการรับรองดังกล่าวจะ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับห้องปฏิบัติการฯ รองรับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านอาหารที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

สำหรับนิทรรศการมีทั้งนำเสนอบทบาทของ วศ. โดย กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ ในฐานะหน่วยรับรองระบบงานของประเทศไทย ที่ให้การรับรองใน 3 ขอบข่ายงานคือ การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐานISO/IEC 17025 การรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 และการรับรองผู้ผลิตวัสดุอ้างอิงตาม ISO17034 ส่วนกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ นำเสนอการพัฒนาตัวอย่างทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ในรายการของ Mercury (Hg) in water หรือปรอทในน้ำ ซึ่งปรอทเป็นโลหะที่มีพิษสูงมาก หน่วยงานด้านมาตรฐานทั่วโลกได้มีการกำหนดวิธีมาตรฐานสำหรับตรวจวัด และการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการผ่านการทดสอบความชำนาญ เพื่อทวนสอบความใช้ได้ของผลการวัด แต่เนื่องจาก ปรอทที่มีความเข้มข้นต่ำมากๆ จะมีความคงตัวต่ำ สามารถระเหยได้ง่าย วศ. จึงร่วมกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ พัฒนาปรอทในน้ำ ที่มีระดับความเข้มข้นต่ำมาก ๆ ให้มีความคงตัวได้นานขึ้น โดยมีอายุการใช้งานได้นานถึง 6 เดือน

กรมวิทยาศาสตร์บริการ

ขณะที่กองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ นำเสนอการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน : ผลิตภัณฑ์วัสดุสัมผัสอาหาร จากธรรมชาติ ได้แก่ ภาชนะกาบหมาก หลอดกระจูด และหลอดราโพ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน BCG และนโยบายลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบ Single-use ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนากระบวนการหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดเฉพาะผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งพิจารณาถึงเกณฑ์กำหนดด้านความปลอดภัย เช่น สารปนเปื้อน ความชื้นและจุลินทรีย์ คุณลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การรั่วซึม ความคงรูป มีกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดสุขลักษณะอนามัย และมีการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

กรมวิทยาศาสตร์บริการ

งาน Thailand LAB International 2023งาน Bio Asia Pacific 2023 และ งาน FutureCHEM INTERNATIONAL 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 กันยายน 2566 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

Leave a Reply

error: Content is protected !!