ผลวิจัยทางการแพทย์หลายแห่งชี้ชัดว่าวัยที่เหมาะสมกับการมีลูกมากที่สุดคือช่วงอายุ ระหว่าง 20-35 ปี เพราะโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งมีน้อย และยังสามารถคลอดได้ง่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาการผ่าคลอดที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า การคลอดแบบธรรมชาติ แต่ด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบันของหนุ่มสาวช่วงอายุดังกล่าว มักจะเป็นช่วงเวลาที่พวกเขากำลังสนุกสนานกับการทำงาน และเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ คู่แต่งงานจึงยังไม่พร้อมที่จะมีลูกและตัดสินใจมีลูกช้าลง “การฝากไข่ หรือ Egg Freezing” จึงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสาว ๆ ที่ต้องการมีลูก และต้องการสร้างครอบครัวเมื่อมีความพร้อมเต็มที่
นายแพทย์สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจตนิน กล่าวว่า การฝากไข่ หรือ การแช่แข็งไข่ คือ การเก็บไข่ไว้ในวันที่ไข่ยังมีคุณภาพดีเพื่อนำไปใช้ในวันที่สาวๆ พร้อมจะมีลูก ซึ่งแต่เดิมคนทั่วไปมักจะเฉพาะเจาะจงการฝากไข่ ไปยังกลุ่มผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งจะต้องรักษาโดยการให้เคมีบำบัดหรือการฉายแสง หรือผู้หญิงที่เป็นโรคชนิดที่ทำให้ต้องตัดรังไข่ออกไป เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ ฯลฯ แต่จริงๆ แล้วการฝากไข่นั้นเหมาะสำหรับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่พร้อมมีลูกในตอนนี้ แต่ต้องการมีลูกในอนาคต
“การฝากแช่แข็งไข่สามารถทำได้ในทุกช่วงวัยของผู้หญิง แต่ยิ่งตัดสินใจเร็วเท่าไหร่ไข่ก็จะมีคุณภาพที่ดีกว่า เช่น เราเก็บไข่ตอนอายุ 30 ปี 10 ปีผ่านไปคุณภาพไข่ที่เราเอามาใช้ก็คือไข่ของผู้หญิงที่อายุ 30 ปี แต่ถ้าเราฝากไข่ตอนอายุ 38 ปี แล้วนำไข่มาแช่แข็งไว้ 10 ปีผ่านไปเหมือนกัน ในปีที่เราจะเอาไข่มาใช้ คุณภาพไข่ก็จะเป็นไข่ของผู้หญิงที่อายุ 38 ปี เพราะฉะนั้นการฝากไข่ ยิ่งทำตอนอายุน้อย ก็ยิ่งดี” นพ. สมเจตน์ แนะนำ
ในส่วนวิธีการ “การฝากไข่” นั้น นพ. สมเจตน์ อธิบายว่า เมื่อสาวๆ ตัดสินใจจะฝากไข่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินการทำงานของรังไข่ เพราะในผู้หญิงแต่ละคนถึงแม้จะมีอายุเท่ากันแต่ก็มีจำนวนไข่ที่ไม่เท่ากัน
กรณีที่ตรวจประเมินแล้วพบว่ารังไข่อยู่ในสภาพที่ดี ก็สามารถเริ่มกระบวนการได้ทันที แต่หากตรวจประเมินพบว่าสภาพการทำงานของรังไข่ไม่พร้อม อาจจะต้องรับประทานยา หรือปรับการใช้ชีวิตด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และกินอาหารเสริม ยาบำรุง หรือวิตามินก่อนกลับมาเริ่มกระบวนการฝากไข่ต่อไป
“สำหรับขั้นตอนการฝากไข่จะเริ่มต้นด้วยการฉีดยากระตุ้นไข่ 9-12 วัน เพื่อให้ได้ไข่จำนวนมาก ซึ่งปริมาณยากระตุ้นไข่ที่ใช้ในแต่ละรายจะไม่เท่ากันขึ้นกับการทำงานของรังไข่ ในระหว่างที่ฉีดยากระตุ้นไข่นั้นแพทย์จะนัดตรวจติดตามทุก 4-5 วันเพื่อดูการตอบสนองของรังไข่ และพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับเพิ่ม/ลดยาหรือไม่ หลังจากกระตุ้นจนได้ไข่โตเต็มที่ ที่ขนาดประมาณ 17-20 มิลลิเมตร เราจึงจะเจาะดูดไข่ออกมาแช่แข็ง และทำการเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิ –196 องศาเซลเซียส ซึ่งการแช่แข็งที่นิยมใช้ คือ Vitrification ซึ่งเป็นวิธีที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ เป็นการลดอุณหภูมิของเซลล์ลงอย่างรวดเร็ว 15,000 – 30,000 องศาเซลเซียส/นาที และใช้สารป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็ง ที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อทำให้ของเหลวภายในเซลล์มีการแข็งตัวในลักษณะ glass-like stage และช่วยลดการเกิดผลึกน้ำแข็งซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เซลล์ไข่เกิดความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตามอัตราความสำเร็จหลังการละลายนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุของไข่เป็นสำคัญ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 % ซึ่งหมายความว่าอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้อัตราความสำเร็จลดลง ” นพ. สมเจตน์ อธิบายในรายละเอียด
นพ. สมเจตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ให้บริการฝากไข่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ โรงพยาบาลเจตนินเป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งมานานกว่า 25 ปี และประสบความสำเร็จในการช่วยคู่สมรสในการให้กำเนิดทารกที่เกิดจากการนำไข่ที่ถูกแช่แข็งไว้หลายปีออกมาใช้ นั่นเป็นเพราะการแช่แข็งไข่ไม่เพียงแค่เก็บไว้วันนี้เพื่อใช้ในวันรุ่งขึ้น แต่เป็นการแช่แข็งไว้เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต นอกจากนี้ โรงพยาบาลเจตนินยังมีรายงานการประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงจากไข่ที่แช่แข็งไว้เป็นเวลานานถึง 10 ปี และไม่มีความแตกต่างจากเด็กที่เกิดโดยธรรมชาติ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพ็คเกจการฝากไข่ ได้ที่ โทร. 02-655-5300 หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาของโรงพยาบาล ผ่านแบบฟอร์มการติดต่อทางเว็บไซต์ คลิก