N Health พัฒนาการตรวจหาการกลายพันธุ์และระบุสายพันธุ์ที่น่ากังวลของเชื้อโควิด-19 เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดตามควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ พร้อมให้บริการแก่โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ
นายรชตวรรธ บุญมาเลิศ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการไบโอโมเลกุลลาร์ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) เผยว่า ปัจจุบันมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern; VOCs) จำนวน 4 สายพันธุ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุข ด้วยการแพร่กระจายเชื้อทำให้ติดต่อง่าย มีอาการรุนแรงขึ้น และเชื้อต้านทานวัคซีนทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง โดยพบว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุข เพราะเดลตามีอัตราการแพร่เชื้อสูงกว่าอัลฟา 60% โดยที่สายพันธุ์อัลฟามีอัตราการแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมราว 50%
ทั้งนี้ห้องปฏิบัติการไบโอโมเลกุลาร์ของ N Health ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการชีววิทยาระดับโมเลกุลเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ได้พัฒนาการตรวจหาการกลายพันธุ์และระบุสายพันธุ์ที่น่ากังวลของเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีหาลำดับสารพันธุกรรม (DNA Sequencing) ในส่วนของโปรตีนหนาม (Spike genes) โดยเมื่อได้ลำดับของดีเอ็นเอแล้ว สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลกลางโควิดโลก (GISAID) ก่อนที่จะรายงานผลสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้แยกแยะตำแหน่งการกลายพันธุ์และสามารถบ่งชี้เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ได้หลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่อาจพบใหม่ในอนาคต
สำหรับการตรวจหาการกลายพันธุ์และระบุสายพันธุ์ที่น่ากังวลของเชื้อโควิด-19 ได้มีการให้บริการกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลสามารถติดตามควบคุมรวมไปถึงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ในชุมชน และยังช่วยให้ทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดในการป้องกันสายพันธ์ต่างๆ
อย่างไรก็ตามแนวทางในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ดีที่สุดคือการ ฉีดวัคซีน แม้จะไม่ครอบคุลมการป้องกันในทุกสายพันธุ์ก็ตาม แต่เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมไปถึงยังคงต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือตลอดเวลา เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มโดยไม่จำเป็น เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการป้องกันโรคได้ดีที่สุด