sacit พร้อมจัดงานใหญ่ “ฝ้ายทอใจ” ชูแนวคิด The Elegance of Thai Cotton จากต้นฝ้ายถึงปลายผ้าสู่ความภาคภูมิใจที่สง่างาม มุ่งยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายเติบโตอย่างยั่งยืน

sacit

sacit หรือ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พร้อมจัดงานใหญ่ “ฝ้ายทอใจ” ชูแนวคิด The Elegance of Thai Cotton จากต้นฝ้ายถึงปลายผ้าสู่ความภาคภูมิใจที่สง่างาม ระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม 2566 ณ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา รวมผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทยทั่วไทย จัดเต็มนิทรรศการและกิจกรรมหลากหลาย เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าฝ้ายศิลปาชีพและผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทั่วไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวนฤดี ภู่รัตนรักษ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า การจัดงาน “ฝ้ายทอใจ” ครั้งนี้ เป็นการกลับมาจัดหลังจากห่างหายไปนานถึง 3 ปี ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนผ้าฝ้ายศิลปาชีพ ให้เป็นที่ยอมรับและผลักดันให้เข้าไปอยู่ในกระแสความนิยมในทุกไลฟ์สไตล์ สามารถสร้างยอดขายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจุดเริ่มต้นของผ้าฝ้ายศิลปาชีพนั้น สืบเนื่องมาจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีความห่วงใยประชาชนในชนบท จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างอาชีพที่ชาวบ้านมีความถนัด วัสดุหาได้ง่ายในท้องถิ่น และสามารถใช้แรงงานให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น ผ้าฝ้ายศิลปาชีพ จึงเป็นงานหัตถกรรมที่ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนและทำให้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ทรงรับซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พสกนิกรของพระองค์ และเป็นอาชีพที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ sacit จึงได้เตรียมพร้อมในทุก ๆ ด้านสำหรับการจัดงานใหญ่ “ฝ้ายทอใจ” ภายใต้แนวคิด The Elegance of Thai Cotton จากต้นฝ้ายถึงปลายผ้าสู่ความภาคภูมิใจที่สง่างาม ระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม 2566 ณ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นงานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายศิลปาชีพ สินค้าผ้าฝ้ายและงานศิลปหัตถกรรมไทยจากทั่วประเทศมารวมไว้ที่เดียว เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าฝ้ายศิลปาชีพเติบโตอย่างยั่งยืน

sacitsacitsacit

สำหรับ วันนี้ (31 กรกฎาคม 2566) sacit ได้จัดแสดงโชว์ลายผ้าฝ้าย ลายพิมพ์ LIMITED EDITION สุดพิเศษ จากทั้ง 5 ศิลปิน ดีไซเนอร์ พร้อมร่วมเสวนาถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบ ซึ่งประกอบด้วย 1.ชวนล ไคสิริ (คุณฌอน) ดีไซเนอร์ เจ้าของแบรนด์ POEM กับผลงาน Wondrous Enigma 2.สมนึก คลังนอก (ครูปาน) ศิลปินวาดภาพชื่อดัง กับผลงาน ผู้หญิงกับดอกไม้ 3.สมบัษร ถิระสาโรช (คุณตือ) เซเลปชื่อดัง กับผลงาน THE OPTIMISM 4.ปวริศา เพ็ญชาติ (คุณแหวน แหวน) ดีไซเนอร์ เจ้าของแบรนด์ PAVA กับผลงาน Rise & Shine และ 5.น้องวินนี่กับน้องฮีโร่ 2 พี่น้องดีไซเนอร์รุ่นเยาว์เจ้าของแบรนด์ KEZIAH กับผลงาน เวลาแห่งความสุข โดยลายผ้าฝ้ายทั้งหมดนี้จะถูกนำไปจัดแสดงไว้ที่งานฝ้ายทอใจระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคมนี้ด้วย ณ โซนจังหวะของสีสันในท่วงทำนองบนผืนผ้า

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายภายในงาน โดยแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ ดังนี้ โซนใต้พระบารมีแม่ของแผ่นดิน จัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โซนเส้นใยฝ้ายสายใยธรรมชาติ จัดแสดงนิทรรศการและการสาธิตการทอผ้าฝ้ายไทย โซนต้นฝ้ายสู่ปลายผ้า จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ของสมาชิก sacit โซนฝ้ายทำมือ จัดเป็นกิจกรรม Workshop เรียนรู้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากผ้าฝ้าย โซนเครือข่ายเพื่อการพัฒนาหัตถกรรม จัดแสดงนิทรรศการของเครือข่ายงานด้านหัตถกรรมที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ

sacit sacit

ทั้งนี้ ตลอดการจัดงานทั้ง 7 วัน ยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญและบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งจะช่วยจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานผ้าด้วยหัวข้อที่น่าสนใจในแต่ละวัน รวมถึงกิจกรรมสันทนาการ ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับสาระประโยชน์อย่างสนุกสนานจากการแสดงบนเวทีของศิลปิน ดาราที่มีชื่อเสียง กิจกรรมประกวดการแต่งกาย ด้วยผ้าไทย และกิจกรรมร่วมสนุกตอบคำถามชิงรางวัล

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงาน “ฝ้ายทอใจ” ได้ที่ ณ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. โดย sacit ได้จัดเตรียมบริการรถรับ-ส่ง ฟรี มี 3 จุดบริการ คือ 1.บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งประตูเชียงราก 2.ด้านหน้าศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และ 3.บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมงานตลอดทั้ง 7 วัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ: สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย

Leave a Reply