โอกาสสู่ความยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจแห่งอนาคตด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว)

OKMD

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD นำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับโอกาสและการเตรียมความพร้อมด้านความรู้ ที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อกระจายโอกาสสู่ชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำ ในแบบ “ทำน้อย ได้มาก” เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันสู่ระดับสากล ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

OKMD

OKMD

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กล่าวในการเปิดงานสัมมนา “โมเดลเศรษฐกิจ BCG : โอกาสทางธุรกิจ Bio-Circular-Green EconomyModel : Business Opportunities เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2567 จัดขึ้น ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ว่า เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทย ด้วยเศรษฐกิจ BCG จะ

(1) เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ พัฒนาสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมธุรกิจสีเขียว ดึงดูดนักลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

(2) สร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยมุ่งพัฒนาภาคการเกษตร เพิ่มมูลค่าผลผลิต ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ เกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

(3) ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งลดการปล่อยมลพิษ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ( Upcycling – Recycling) ลดการสร้างขยะ ฟื้นฟูระบบนิเวศ

(4) พัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้เกิดสังคมสุขภาพดี เข้าถึงอาหารปลอดภัย

(5) สร้างงานสร้างอาชีพในสาขาใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานสะอาด ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้รองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้และการประกอบอาชีพ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืน จึงเป็นภารกิจของ OKMD ในการเร่งพัฒนาองค์ความรู้ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มศักยภาพในภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

OKMD

ในการนี้ ทาง OKMD ได้นำเสนอผลการวิจัย ที่ทำการศึกษาทั้งในกลุ่มของประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEที่พบว่า ไม่ว่าจะเป็นในภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจ ต่างมีความรู้และรับรู้ว่าเศรษฐกิจ BCG คืออะไร แต่ทว่าในด้านของการนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตในชีวิตประจำวัน หรือการนำไปใช้ในภาคธุรกิจขนาดย่อมให้เกิดการความสามารถในการแข่งขันหรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพที่จะส่งผลต่อการประกอบการนั้นกลับมีอุปสรรคหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้เพราะไม่ทราบว่าจะต้องเริ่มจากจุดใด หรือการที่ภาคประชาชนมีความต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบพาทำหรือจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งมุมมองที่คิดว่าการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจ BCG จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนผ่านสถาบันการเงิน หรือแหล่งทุน

OKMD

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ภายในงาน ยังได้มีการจัดเวทีเสวนา โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นตัวแทนนักวิชาการ และตัวแทนของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งวิทยากรต่างให้ความเห็นว่าโอกาสทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ BCG ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจนำเศรษฐกิจ BCG ไปปรับใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตหรือใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยผู้ประกอบการจะต้องไม่กังวลต่อการนำไปใช้ เพราะการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG นั้น เป็นแนวปฏิบัติที่กลมกลืนไปกับวิถีชีวิต ให้ความห่วงใยกับสุขภาพ สังคม และธรรมชาติ ไม่มีสูตรสำเร็จเนื่องจากธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ควรแสวงหาความรู้ ลงมือทำก่อนแล้วจึงค่อยปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของตนเอง 

OKMD

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD คาดหวังว่าหลังจากการเปิดเผยผลการวิจัย และการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับโอกาสและการเตรียมความพร้อมด้านความรู้เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง OKMD เองก็เร่งพัฒนาทั้งองค์ความรู้สู่ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ตลอดจนมุ่งแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เป็นพันธมิตร เพื่อให้เกิดความร่วมมือในอันที่จะช่วยสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เกิด “ความพร้อม” ต่อการปรับตัวเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการกระจายโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดขยายผล พัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป

Leave a Reply